โมเดลสาธารณสุขที่สนับสนุนการดูแลความสูญเสีย (Public Health Model of Bereavement Support)

ผู้เขียน เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
วันที่เผยแพร่ 2022-4-9

การดูแลความสูญเสีย (Bereavement Care) เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากในช่วงการระบาดของโควิด – 19 เนื่องจากโรคระบาดดังกล่าวสร้างความสูญเสียต่อชีวิต และความเป็นปกติของวิถีชีวิตหลายด้าน อีกทั้งเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในระดับประชากร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงการดูแลความสูญเสียในระดับประชากรด้วย 

โดยทั่วไป การดูแลความสูญเสีย มักจะถูกมองในมุมของการแพทย์หรือทางจิตวิทยา ในฐานะที่เป็นประเด็นปัญหาสุขภาพจิตของปัจเจกบุคคล และใช้โมเดลทางการแพทย์มาช่วยจำแนก กล่าวคือ ความโศกเศร้าจากความสูญเสียมีทั้งความสูญเสียที่ปกติและ ‘ไม่’ ปกติ (normal grief, abnormal grief) หากผู้สูญเสียประสบความโศกเศร้าที่ไม่ปกติตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ผู้สูญเสียคนนั้นๆ ควรได้รับความช่วยเหลือจากนักบำบัด จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อให้ผู้สูญเสีย ‘กลับคืนสู่สภาวะปกติ’ สามารถทำงานและกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ได้

มุมมองดังกล่าวแม้จะเป็นประโยชน์ที่ช่วยจำแนกความรุนแรงของความสูญเสียออกเป็นระดับ ทำให้ผู้สูญเสีย ครอบครัว หรือบุคลากรสุขภาพมีแนวทางคัดกรองและส่งต่อให้ผู้ประสบความสูญเสียได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ผู้สูญเสียจำนวนมากมักไม่ได้หาแหล่งช่วยเหลือจากหน่วยบริการสุขภาพเป็นอันดับแรก แต่กลับมองหาความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน และชุมชนมากกว่า [1]

การส่งเสริมให้ผู้เผชิญความสูญเสียได้รับบริการดูแลสุขภาพจิตแบบการแพทย์อย่างทั่วถึง จึงเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จได้ยาก และมีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึงบริการ หากชุมชนหรือสังคมต้องการสนับสนุนการดูแลความสูญเสียในระดับประชากร ควรคำนึงถึงแนวทางการส่งเสริมป้องกันให้ประชาชนพลเมืองทุกคน มีความรู้ ทักษะ แนวทางเบื้องต้น ในการดูแลความสูญเสียของผู้สูญเสียในเครือข่ายสังคมของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ทั้งนี้ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือผู้สูญเสีย เราควรตระหนักว่า บุคคลแต่ละคนมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการฟื้นคืนเมื่อเผชิญความสูญเสียที่ต่างกัน เราอาจแบ่งกลุ่มผู้เผชิญความสูญเสียออกเป็นสามกลุ่ม ตามระดับความเสี่ยง

Aoun, S. M., Breen, L. J., Howting, D. A., Rumbold, B., McNamara, B., & Hegney, D. (2015). Who Needs Bereavement Support? A Population Based Survey of Bereavement Risk and Support Need. PLOS ONE, 10(3), e0121101. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0121101 

ผู้สูญเสียที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low risk) คือผู้ที่สามารถรับมือความสูญเสียได้เอง เป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคม เพียงการปลอบโยน การให้กำลังใจจากครอบครัวหรือเพื่อน ได้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบพิธีศพหรือไว้อาลัยตามธรรมเนียมศาสนาหรือวัฒนธรรม พวกเขาก็สามารถฟื้นคืนจากความสูญเสียได้เป็นส่วนใหญ่ ความทุกข์โศกหรือความเศร้าที่ยังเหลืออยู่ก็ยังพอรับมือได้โดยไม่ต้องความช่วยเหลือจากอาสาสมัครที่มีทักษะหรือผู้เชี่ยวชาญ

กลุ่มผู้สูญเสียที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Moderat risk) ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียมากกว่า ยาวนานกว่า เพียงการสนับสนุนจากครอบครัวหรือเพื่อน การมีส่วนร่วมพิธีศพตามธรรมเนียมอาจไม่เพียงพอ คนกลุ่มนี้อาจต้องการกิจกรรมสนับสนุนการดูแลความสูญเสียจากผู้มีประสบการณ์ที่มากขึ้น เช่น การได้รับการรับฟังจากอาสาสมัคร การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสนับสนุน (Group Support) ที่ชุมชนดูแลช่วยเหลือกันเอง (self help group) จัดขึ้น การทำกิจกรรมรำลึกหรืออุทิศที่เข้มข้น เป็นส่วนตัว และมีความหมายมากขึ้น

กลุ่มผู้สูญเสียที่มีความเสี่ยงสูง (High risk) หรือผู้เผชิญความสูญเสียที่รุนแรงซับซ้อน จำเป็นต้องได้รับการส่งต่อดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ อาจต้องการเชื่อมโยงกับพิธีอุทิศหรือรำลึกผู้วายชนม์เป็นประจำทุกวัน

ในสังคมไทย เราอาจยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องดูแลผู้สูญเสียมากนัก แต่ในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา เราได้เห็นการเผชิญความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โควิด ทั้งการสูญเสียชีวิตบุคคลอันเป็นที่รัก การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษา สูญเสียอาชีพการงาน สูญเสียความมั่นคงในครอบครัว ขณะที่ผู้สูญเสียอาจไม่ตระหนักว่าอารมณ์ความเครียด ความเศร้า ความกังวล ความสิ้นหวัง ความคิดฆ่าตัวตายทำร้ายตัวเอง อาจมาจากประสบการณ์ความสูญเสียที่ไม่ถูกรับรู้ ตระหนัก และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

ดังนั้น การจัดสรรสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลความสูญเสียจึงเป็นสิ่งจำเป็น และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลความสูญเสียได้ตามศักยภาพหรือความถนัด บทบาททางสังคม ยิ่งหากเป็นคนที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรระบบการดูแลความสูญเสียในทางนโยบาย ยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยเสริมสร้างการดูแลความสูญเสียที่ตอบสนองคนกลุ่มใหญ่ขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคนวงกว้างมากขึ้น

ตัวอย่างการดูแลความสูญเสียในระดับสาธารณสุขที่ตอบสนองกลุ่มเสี่ยงในทุกๆ กลุ่ม

  • แนวทางที่ตอบสนองกลุ่มเสี่ยงต่ำ
    • การเสริมสร้างทักษะรับฟังอย่างไม่ตัดสิน แนวทางเบื้องต้นในการดูแลความสูญเสียของบุคคลใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน ญาติ
    • สนับสนุนชุดความรู้ ทักษะ และทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลตนเองเมื่อเผชิญความสูญเสีย
    • การสนับสนุนพื้นที่สำหรับการรำลึกไว้อาลัย เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียเข้าถึงหรือเยี่ยมอัฐิ ที่ฝังศพ หรืออนุสรณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    • การจัดมุมไว้อาลัย ใคร่ครวญ สร้างความสงบสันติในสถานที่ที่เกี่ยวกับการสูญเสีย เช่น โรงพยาบาล วัด สถานที่ทำฌาปนกิจศพ  ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำศพ หออนุสรณ์ที่เกี่ยวกับผู้สูญเสีย
    • การจัดทำหลักสูตรการดูแลความสูญเสีย ผนวกเข้ากับความรู้ในวิชาต่างๆ ในระบบการศึกษา เช่น แนวทางการดูแลความสูญเสียในหลักวิชาสุขศึกษา สังคมศึกษา ศาสนศึกษา การศึกษาทั่วไป เป็นต้น 
    • การเพิ่มมิติดูแลความสูญเสียในวันสำคัญที่เกี่ยวกับการรำลึกผู้สูญเสีย เช่น วันทหารผ่านศึก วันครบรอบการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการสูญเสียที่รุนแรง 
  • แนวทางที่ตอบสนองกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง 
    • การสนับสนุนกลุ่มดูแลช่วยเหลือกันเองในชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ชุมชนศาสนา ชมรมผู้สูงอายุ
    • การอบรมและผลิตอาสาสมัครด้านสุขภาพ บุคลากรการศึกษา บุคลากรสุขภาพนอกเหนือจากแวดวงสุขภาพจิตหรือบุคลากรดูแลแบบประคับประคองให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เอื้อต่อการดูแลความสูญเสียเบื้องต้น รวมทั้งวิธีการส่งต่อผู้เผชิญความสูญเสียที่ต้องการความช่วยเหลือขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญ
  • แนวทางที่ตอบสนองกลุ่มความเสี่ยงสูง
    • พัฒนาระบบส่งต่อผู้เผชิญความสูญเสียที่รุนแรง ซับซ้อน
    • สนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพและบุคลากรในชุมชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มีทักษะการดูแลความสูญเสียท่ีรุนแรงซับซ้อน เข้มข้น สนับสนุนนักบำบัดที่เป็นกลุ่มประชากรเฉพาะสำหรับดูแลความสูญเสียผู้รับบริการที่มีบริบทใกล้เคียง เช่น นักบำบัด LGBT ที่ดูแลความสูญเสียของคู่รัก LGBT นักบำบัดกลุ่มชาติพันธุ์ช่วยดูแลพี่น้องในชาติพันธุ์ เป็นต้น
    • การสนับสนุนงานศึกษาวิจัยการดูแลความสูญเสียตามกลุ่มประชากรเฉพาะและยังมีช่องว่างในการให้หบริการดูแลความสูญเสีย

ที่ผ่านมา งานชุมชนกรุณาจัดทำเนื้อหา กิจกรรม และพัฒนาเครือข่ายการดูแลความสูญเสีย เช่น 

หากท่านเป็นองค์กรหรือบุคคลที่สนใจสนับสนุนการดูแลความสูญเสียในระดับสาธารณสุข โปรดติดต่อเราได้ที่ cocofoundationthailand@gmail.com

เอกสารอ้างอิง

[1] Aoun, S. M., Breen, L. J., Howting, D. A., Rumbold, B., McNamara, B., & Hegney, D. (2015). Who Needs Bereavement Support? A Population Based Survey of Bereavement Risk and Support Need. PLOS ONE, 10(3), e0121101. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0121101

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา