ชุมชนกรุณาและเมืองกรุณา

ผู้เขียน เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
วันที่เผยแพร่ 2022-4-18

ในการทำงานส่งเสริมสุขภาพแนวดูแลแบบประคับประคอง (Health-Promoting Palliative Care) นอกจากคำว่าชุมชนกรุณา (Compassionate Communities) แล้ว ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือเมืองกรุณา (Compassionate Cities) นักปฏิบัติชุมชนกรุณาจึงอาจสงสัยว่าสองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร

คำทั้งสองถูกเสนอโดย ศ.อาลัน เคเลเฮียร์ (Allan Kellehear) ผู้ก่อตั้ง Public Health Palliative Care International (PHPCI) อันที่จริง คำที่ได้รับการใช้งานก่อนคือ เมืองกรุณา (Compassionate Cities) ปรากฏในหนังสือชื่อ Compassionate Cities: Public Health and end-of-life care ซึ่งมีนิยามดังนี้ [1]

“เมืองกรุณา คือชุมชนที่ตระหนักว่าวงจรแห่งสุขภาพและความเจ็บป่วย เกิดและตาย พบพานและสูญเสีย เกิดขึ้นในชีวิตเป็นวัฏจักรธรรมชาติ เมืองกรุณาคือชุมชนที่ตระหนักว่าการดูแลกันและกันในช่วงเวลาวิกฤตและสูญเสีย ไม่ใช่ภาระงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือนักสังคมสงเคราะห์เท่านั้น แต่คือความรับผิดชอบของคนทุกคน

เมืองกรุณา คือชุมชนที่ทำงานสาธารณะในการส่งเสริม เอื้ออำนวย สนับสนุน และเฉลิมฉลองการดูแลเพื่อนมนุษย์ในช่วงเวลาที่พวกเขาเผชิญประสบการณ์ท้าทายของชีวิต อาทิ เจ็บป่วยเหลือเวลาในชีวิตอย่างจำกัด ประสบความพิการเรื้อรัง ประสบความชราและเสื่อมทั้งร่างกายและสมอง ประสบความโศกเศร้าและสูญเสีย ประสบความยากลำบากในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังยาวนาน ขณะที่ระบบบริการสุขภาพเพียรทำหน้าที่สนับสนุนการดูแลดังกล่าวให้มีคุณภาพ เราทุกคนพึงตระหนักว่าวิกฤตของชีวิตจากความเจ็บป่วย การตาย ความตาย และความสูญเสีย อาจมาเยือนเราเมื่อใดก็ได้ เมืองกรุณาคือชุมชนที่ตระหนักถึงความจริงนี้ด้วยความไม่ประมาท และพร้อมจะยื่นมือเข้าสนับสนุน” (อ่านนิยามเมืองกรุณาฉบับเต็มได้ที่ https://cocofoundationthailand.org/compassionate-city-charter/ [2]

ที่มาของเมืองกรุณา

แนวคิดเมืองกรุณา เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจากแนวคิด “เมืองสุขภาวะ​” (Healthy Cities) จากกฎบัตรออตตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ประกาศโดย WHO ในปี 1986 แนวคิดเมืองสุขภาวะระบุถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตายก่อนวัยอันควร การเพิ่มทักษะ ความรู้ และทัศนคติที่สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี การส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นปฏิบัติการสังคมด้วย สุขภาพที่ดีไม่ใช่เพียงการที่สังคมนั้นๆ มีโรงพยาบาลที่ดี รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคเท่านั้น แต่คนทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบสุขภาพของตนเอง

อย่างไรก็ตามเมืองสุขภาวะ สนใจเฉพาะการส่งเสริมป้องกันประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงสุขภาพในช่วงท้ายของชีวิต การดูแลสุขภาพช่วงท้าย การตาย และความสูญเสีย ซึ่งเป็นช่องโหว่ของงานส่งเสริมสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมการดูแลความป่วย ตาย และประสบความสูญเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัฏจักรชีวิตของมนุษย์

แม้เราจะกล่าวว่า ความตายเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องเผชิญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะปล่อยให้ผู้เผชิญความตายและความสูญเสีย ตกอยู่ในความเครียด ความซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ ความโดดเดี่ยวลำพัง  เป็นไปได้เช่นกันที่เราจะสามารถเผชิญความตายได้อย่างมีความพร้อม ระบบสุขภาพและสังคมที่เกื้อกูลการดูแลความเจ็บป่วย การตาย และการดูแลสามารถช่วยลดความทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องกับความตายได้ ระบบสุขภาพและสังคมที่มีนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรมที่เกื้อกูลการดูแลความเจ็บป่วย ความตาย และความสูญเสียนั่นเองคือเมืองกรุณา 

แนวคิดเมืองกรุณา ได้รับการตอบรับจากชุมชนนักวิชาการสังคมศาสตร์และนักการสาธารณสุขในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ไต้หวัน และได้พัฒนากฎบัตรเมืองกรุณา (The Compassionate City Charter) ซึ่งเป็นเอกสารสรุปแนวทางการปฏิบัติให้เกิดชุมชนกรุณา เขียนโดย Allan Kellehear (2015) และปรับปรุงอีกครั้งในปี 2020 [3] สำหรับใช้เป็นเอกสารอ้างอิงให้ผู้บริหารนโยบายสังคมและสุขภาพ นำไปพัฒนานโยบาย แผนงาน โครงการ ส่งเสริมสุขภาพช่วงท้าย และสนับสนุนดูแลความสูญเสียของเมือง ชุมชน และองค์กร

ตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศที่ดำเนินตาม Compassionate Cities เช่น ประเทศแคนาดา และประเทศไต้หวัน ซึ่งผู้บริหารเมืองรับเอาเอกสารเมืองกรุณา ไปออกแบบแผนงานและกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่วงท้ายของประชากรในเมือง โดยมาก ในช่วงเริ่มต้นการทำโครงการเมืองกรุณา ผู้บริหารระบบสุขภาพหรือชุมชนท้องถิ่นมักจะประกาศพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงในการพัฒนาเมืองกรุณา เช่น ในไต้หวัน กำหนดให้ย่านถนน Shilin Old Street เป็นพื้นที่เมืองกรุณา จากนั้นมีกิจกรรมสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของการดูแลแบบประคับประคอง จัดกิจกรรมส่งเสริมการวางแผนดูแลล่วงหน้า สร้างวัฒนธรรมให้ความตายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องที่พูดได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับการพัฒนาระบบอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลและส่งต่อการดูแลแบบประคับประคองในชุมชนร่วมกับข้อมูลสุขาภพของหน่วยบริการ [4] เมื่อพื้นที่นำร่องประสบความสำเร็จ ค่อยขยายเมืองกรุณาไปยังเมืองต่อไป

ในประเทศแคนาดา มีการพัฒนานโยบาย Compassionate Care Benefit ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลจัดสรรให้คนวัยทำงานสามารถลางานโดยยังได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลเพื่อไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตและจัดพิธีศพแล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่เมื่อพร้อม [5]

แนวคิดเมืองกรุณาจึงมีลักษณะเป็นการปฏิบัติจากบนลงล่าง (Top Down Approach)

ชุมชนกรุณา

ส่วนคำว่าชุมชนกรุณา ซึ่งหมายถึง “แนวคิดและปฏิบัติการทางสังคมเชิงส่งเสริมป้องกัน และสนับสนุนให้บุคคลและชุมชนมีความพร้อมด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ นำไปสู่ความสามารถในการรับมือกับความทุกข์จากความเจ็บป่วย การดูแล การตาย และความสูญเสีย บนพื้นฐานของความกรุณา การสร้างการมีส่วนร่วม การคำนึงถึงนิเวศชุมชน และความเป็นธรรมทางสังคม” [7] เป็นคำที่พัฒนาขึ้นภายหลังแนวคิดเมืองกรุณา ปรากฏในหนังสือชื่อ Compassionate communities: case studies from Britain and Europe [8] ซึ่งได้รวบรวมบทความตัวอย่างการปฏิบัติชุมชนกรุณาในยุโรปและสหราชอาณาจักร

จากข้อสังเกตของผู้เขียน คำว่าชุมชนกรุณาได้รับการพูดถึงและใช้งานมากกว่าเมืองกรุณา เพราะการพัฒนาชุมชนกรุณาทำได้ง่ายกว่าเมืองกรุณา ชุมชนกรุณาสามารถริเริ่มได้โดยบุคลากรไม่กี่คนในหน่วยบริการสุขภาพเล็กๆ หรือริเริ่มโดยผู้นำชุมชนไม่กี่คนที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพช่วงท้ายและการตายดี ก็สามารถลงมือกระทำการบางอย่างให้สมาชิกในชุมชนมีความพร้อมที่จะรับมือกับความตายและความสูญเสียได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้นำระดับสูงของเมือง หรือผู้บริหารนโยบายสาธารณะจะต้องเห็นด้วยกับแนวคิดเมืองกรุณาเสียก่อน จึงจะส่งเสริมสุขภาพชีวิตช่วงท้ายได้ 

ดังนั้น ชุมชนกรุณาจึงเป็นปฏิบัติการสังคมในลักษณะจากล่างขึ้นบน (Bottom Up Approach) ดำเนินงานโดยนักปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพช่วงท้ายในระดับรากหญ้า เมื่อพบว่ากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพใดที่ให้ผลดี มีประสิทธิภาพ นักปฏิบัติในชุมชนจึงขยายผลไปยังหน่วยอื่นๆ ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

ด้วยธรรมชาติของการทำงานที่มีลักษะเช่นนี้ ชุมชนกรุณาจึงเป็นคำที่มีผู้ใช้มากกว่า เพราะงานส่งเสริมสุขภาพช่วงท้ายและการตายดี มักริเริ่มโดยคนทำงานภาคปฏิบัติ มากกว่าริเริ่มโดยผู้บริหารนโยบาย คำว่าเมืองกรุณาและชุมชนกรุณาจึงมีหลักการที่เหมือนกัน มีเป้าหมายเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่แนวทางการปฏิบัติ 

ขณะที่ชุมชนกรุณามักริเริ่มจากรากหญ้า เมืองกรุณาริเริ่มจากผู้บริหารระดับบน 

ขณะที่ชุมชนกรุณาสนใจการพัฒนาความพร้อมในการดูแลความเจ็บป่วย ความตาย และความสูญเสียของคนในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม เมืองกรุณาพัฒนานโยบาย แผนงาน โครงการ ทรัพยากร ของหน่วยงานที่เป็นทางการ

ดังนั้น ชุมชนกรุณาและเมืองกรุณาจึงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากชุมชนกรุณา ขาดเมืองกรุณา ย่อมไม่สามารถขยายผลปฏิบัติการจากพื้นที่เฉพาะสู่พื้นที่ทั่วไปได้ และหากเมืองกรุณาขนาดชุมชนกรุณา ย่อมไม่สามารถผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

[1] Kellehear, A. (2012). Compassionate cities. Routledge. 

[2] กฎบัตรเมืองกรุณา https://cocofoundationthailand.org/compassionate-city-charter/

[3] https://compassionate-communitiesuk.co.uk/wp-content/uploads/2021/12/The-Compassionate-City-Charter.pdf

[4] Liu, C. J., Huang, S. J., & Wang, S. S. C. (2022). Implementation of Compassionate Communities: The Taipei Experience [Article]. Healthcare (Switzerland), 10(1), Article 177. https://doi.org/10.3390/healthcare10010177 

[5] Williams, A. M., Eby, J. A., Crooks, V. A., Stajduhar, K., Giesbrecht, M., Vuksan, M., Cohen, S. R., Brazil, K., & Allan, D. (2011, 2011/05/18). Canada’s Compassionate Care Benefit: Is it an adequate public health response to addressing the issue of caregiver burden in end-of-life care? BMC Public Health, 11(1), 335. https://doi.org/10.1186/1471-2458-11-335

[7] www.cocofoundationthailand.org

[8] Wegleitner, K., Heimerl, K., & Kellehear, A. (2015). Compassionate communities: case studies from Britain and Europe. Routledge. 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา