ที่มาและแนวคิดชุมชนกรุณา

ที่มา:

การพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ สุขาภิบาล และโภชนาการ ส่งผลให้มนุษย์มีอายุยืนนานขึ้น การแพทย์พัฒนาเทคนิคการยื้อชีวิตให้ยาวนานขึ้น แต่ผลอีกด้านคือ ความทุกข์จากขั้นตอนของการตายของผู้ป่วยถูกทำให้ยืดเยื้อยาวนานมากขึ้นด้วย

การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือการแพทย์ศาสตร์หนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ แนวทางการดูแลสำคัญคือ การช่วยสื่อสารวางแผนสุขภาพช่วงท้าย การจัดการความปวดและอาการทางกายที่ลดทอนคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ทีมสุขภาพซึ่งประกอบด้วยบุคลากรอันหลากหลาย ยังสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในมิติทางใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การดูแลแบบประคับประคองยังถือเป็นศาสตร์ใหม่ในวงการแพทย์ สังคมไทยยังมีบุคลากรการแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองที่ไม่เพียงพอ และยังคงเป็นกระแสรองในการดูแลสุขภาพ สิ่งที่ท้าทายคือ สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ กำลังจะมีผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้ายจำนวนมาก ซึ่งแนวโน้มที่จะเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพแบบประคับประคองในโรงพยาบาล และอาจต้องเผชิญความสูญเสียและความตายโดยลำพัง

คำถามคือ เราทุกคนจะมีส่วนช่วยผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังเผชิญความสูญเสียกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง

ชุมชนกรุณามีความสำคัญอย่างไร:

ชุมชนกรุณา (Compassionate Communities) คือแนวคิดและปฏิบัติการทางสังคมเชิงส่งเสริมป้องกัน ลดผลกระทบ และสนับสนุนให้บุคคลและชุมชนมีความพร้อมด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ให้สามารถรับมือกับความทุกข์จากความเจ็บป่วย การดูแล การตาย และความสูญเสีย บนพื้นฐานของความกรุณา การสร้างการมีส่วนร่วม การคำนึงถึงนิเวศชุมชน และความเป็นธรรมทางสังคม

ชุมชนกรุณา เชื่อว่า ประสบการณ์ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ใหญ่และสำคัญเกินกว่าจะมอบหมายให้แพทย์ หรือคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรับผิดชอบ หากเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบทั้งสองด้าน ด้านแรก เราต้องรับผิดชอบการตายของตัวเราเอง และอีกด้านหนึ่ง เราต้องร่วมรับผิดชอบดูแลความสูญเสียของชุมชนที่เราสังกัดด้วย

ชุมชนกรุณา เชื่อว่า แม้เราจะมิได้เป็นแพทย์ แต่ความรู้ ทักษะด้านอื่นๆ ของเราก็มีประโยชน์และมีส่วนช่วยประคับประคองสมาชิกในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียได้ เช่น การไปเยี่ยมรับฟัง การช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยให้น่าอยู่ การช่วยทำอาหาร หรือแม้แต่การแบ่งเบาภาระด้านอื่นๆ ของผู้ป่วย เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องกังวลในยามที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือจากไปแล้วก็ตาม พูดอีกอย่างหนึ่ง ชุมชนกรุณา ก็คือการดูแลแบบประคับประคองภาคสังคมนั่นเอง

ชุมชนกรุณา เชื่อว่า เราทุกคนต่างสามารถช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนของเราให้เข้าถึงการตายดีได้ และการรับรู้พร้อมทั้งยื่นมือเข้าช่วยเหลือนี้เองจะช่วยให้เราตระหนักรู้ความไม่แน่นอนของชีวิต นำไปสู่การปรับปรุงวิถีชีวิตของเราให้เอื้อต่อการตายดี ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เองคือการ “มีชีวิตที่ดี”

แนวทางการพัฒนาชุมชนกรุณา

การส่งเสริมสุขภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง มุ่งเน้น 1) ป้องกันก่อนเกิดปัญหา (Prevention) 2) ลดผลกระทบ Harm Reduction) 3) แทรกแซงก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม​ (Early intervention) ทั้งด้านสังคม จิตใจ และจิตวิญญาณ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย การตาย การสูญเสียและการดูแล ซึ่งรวมเอากลุ่มคนเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มคนที่มักถูกทอดทิ้ง ผู้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คนที่โศกเศร้าจากความสูญเสีย กลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น โดยการป้องกันดังกล่าวควรคำนึงถึง 4) ความยั่งยืน (Sustainability)

แนวคิดชุมชนกรุณาดังกล่าว สามารถแปรเปลี่ยนเป็นแนวทางการทำงานดังนี้

1) การสร้างการมีส่วนร่วม (Participation)

ชุมชนกรุณา ควรสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคสุขภาพ กับชุมชน สถานที่ทำงาน ในลักษณะหุ้นส่วนที่มีความเสมอภาค ไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวางตัวเหนือกว่าหรือมีลักษณะสั่งสอน

2) การพัฒนาชุมชน (Social development)

ชุมชนกรุณา ควรทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มที่เผชิญความตาย การตาย ความสูญเสีย และผู้ดูแล เมื่อเข้าใจความต้องการแล้ว ควรแสวงหาแนวทางตอบสนองความต้องการที่จำเป็นร่วมกับผู้นำกลุ่มต่างๆ ในชุมชน 

3) การสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ชุมชนกรุณา ควรเรียนรู้ที่จะทำงานเคียงข้างกับสถาบันต่างๆ ในชุมชน เช่น โรงเรียน สาถนที่ทำงาน วัด โบถส์ พิพิภัณฑ์ศิลปะ สื่อมน ธุรกิจ ชมรมกีฬาและนันทนาการ เราควรตระหนักว่า การดูแลแบบประคับประคองไม่สามารถทำงานร่วมกับชุมชนโดยลำพัง หากเป็นเพื่อนร่วมทำงานไปกับองค์กรต่างๆ ในชุมชน 

4) การให้ความรู้ (Education)

เราคุ้นเคยกับการให้ความรู้ หรือสุขศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็ง (การทาครีมกันแดด อาหารที่ไม่เสี่ยงต่อมะเร็ง การไม่สูบบุหรี่) สุขภาวะทางเพศ การป้องกันอุบัติเหตุ ทำไมเราจะให้สุขศึกษาเกี่ยวกับความตาย การตาย ความสูญเสียไม่ได้ การให้ความรู้เหล่านี้ช่วยลดอคติเกี่ยวกับความตาย การปฏิเสธความตาย ช่วยให้เราทำความเข้าใจความต้องการในประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และสามารถสนับสนุนหรือส่งเสริมสุขภาวะด้านการตายดีได้มากขึ้น

5) การสนับสนุนสุขภาพในวงกว้าง (Population Health Approach)

ปัจจุบัน การให้ความรู้ด้านการตายดี จำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังเผชิญปัญหา อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้เรื่องนี้สามารถเผยแพร่ให้กว้างขวางมากขึ้นในระดับสังคม 

6) มีมุมมองเชิงนิเวศวิทยา (An Ecological Settings Emphasis)

เราควรเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับความตายและความสูญเสีย สิ่งแวดล้อมบางอย่างให้คุณต่อการเผชิญความสูญเสีย แต่บางอย่างให้ผลตรงข้าม เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ควรร่วมมือกับสถาบันที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เพื่อเสริมเหตุปัจจัยที่สนับสนุนการตายดี และลดปัจจัยที่ลดทอนการตายดี เช่น องค์กรราชการท้องถิ่น สื่อมวลชน และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตายดี

สรุป

ชุมชนกรุณา คืองานด้านสาธารณสุขที่ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง โดยสร้างความร่วมมือระหว่างภาคสุขภาพและภาคสังคมในระยะยาว เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล การดูแลสมาชิกในชุมชนให้เข้าถึงการตายดี เป็นความรับผิดชอบของสมาชิกทุกคนในชุมชน และความกรุณา คือคุณภาพที่จะช่วยให้เราทุกคนดูแลกันและกัน ร่วมกันเผชิญและก้าวข้ามประสบการณ์สำคัญที่สุดของชีวิต สู่ชีวิตที่ผาสุกและสังคมที่มีสันติภาพ


เอกสารอ้างอิง

The Public Health Approach to Palliative Care. https://www.phpci.org/public-health-approach/

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา