ชุมชนกรุณาเพื่อการตายดี

เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล

ทุกครั้งที่มีการตั้งคำถามถึงความตายที่พึงปรารถนา  คนส่วนใหญ่จะตอบว่า “ตายดี”  แต่ก็น่าสงสัยว่าผู้คนทั้งหลายครุ่นคิดถึงเรื่องนี้เพียงใด  ส่วนใหญ่ใช้ชีวิต เวลาและทรัพยากรที่มีเพื่อการ “อยู่ดี”มากกว่า มีน้อยคนมากที่จริงจังกับการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อการตายดี  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมองว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะเราทุกคนมีโอกาสที่จะตายได้ตลอดเวลา  ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอย่างเต็มร้อยว่าเราจะมีชีวิตถึงวันพรุ่งนี้ 

ในเมื่อทัศนคติของผู้คนเป็นเช่นนี้  จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองไทยทุกวันนี้ให้ความสำคัญน้อยมากกับการส่งเสริมให้เกิดการตายดีในระดับสังคม  การตายดีกลายเป็นเรื่องที่แต่ละคนหรือแต่ละครอบครัวต้องขวนขวายกันเอง และมักจะตื่นตัวเรื่องนี้ต่อเมื่อคนใกล้ตัวป่วยหนักหรือกำลังจะสิ้นลม  ผลก็คือผู้คนจำนวนมากตายด้วยความทุกข์ทรมานเพราะไม่เคยมีการเตรียมตัวในเรื่องนี้เลย  หรือไม่มีเวลาเตรียมตัวที่มากพอ จึงขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยให้การตายดีเกิดขึ้นได้  ใช่แต่เท่านั้นความทุกข์ยังตกอยู่แก่ลูกหลานญาติพี่น้องที่ดูแลคนรักทั้งระหว่างที่เจ็บป่วยและหลังจากสิ้นลมแล้ว มีทั้งความเศร้าโศก กลัดกลุ้ม และรู้สึกผิดที่เห็นคนรักของตัวตายด้วยความทุกข์ทรมาน 

การตายดีจะเกิดขึ้นได้นอกจากอาศัยความรู้ความเข้าใจในความจริงของชีวิต จนเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ทัศนคติและทักษะในการน้อมใจผู้ป่วยให้เกิดความสงบในวาระสุดท้ายก็สำคัญ แต่ที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ การดูแลผู้ป่วยในทางกายเพื่อช่วยให้สุขสบาย ไม่ถูกรบกวนด้วยความเจ็บปวด โดยไม่เพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้น (ซึ่งมักมาพร้อมกับเทคโนโลยีนานาชนิดที่มุ่งยื้อชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวที่สุด) 

องค์ความรู้ เทคโนโลยี อุปกรณ์ ตลอดจนสถานที่ และบุคลากร ที่จะช่วยให้เหตุปัจจัยดังกล่าวเกิดขึ้นได้ บ่อยครั้งเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ครอบครัวของผู้ป่วยจะจัดหามาให้ครบถ้วนเพื่อช่วยให้การตายดีเกิดขึ้นได้  หลายครอบครัวอาศัยเครือข่ายญาติมิตรของตนช่วยจัดหามาให้ อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรด้านสุขภาพ (ซึ่งมักมีงานล้นมือจนบางครั้งก็ช่วยได้ไม่เต็มที่) ด้วยการร่วมแรงร่วมใจดังกล่าวผู้ป่วยหลายคนจึงจากไปอย่างสงบ 

อย่างไรก็ตามมีครอบครัวจำนวนมากที่ไม่สามารถช่วยให้คนรักของตนจากไปอย่างสงบได้ เพราะมีอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรดังกล่าว (ยังไม่ต้องพูดถึงอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นึกถึงการตายดีเลย เพราะคิดแต่จะยื้อชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวที่สุด)  ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ ครอบครัวเหล่านี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงการมีคนแก่ที่ป่วยหนักและอยู่ในระยะท้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้ที่มีศักยภาพในการดูแล เช่น ลูกหลานหรือคนในวัยทำงาน ก็มีสัดส่วนน้อยลง เช่นเดียวกับบุคลากรสาธารณสุขและสถานพยาบาล ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในการรองรับผู้ป่วยประเภทนี้ 

สังคมไทยไม่ควรละเลยครอบครัวเหล่านี้ สังคมของเรามีศักยภาพที่จะช่วยให้ผู้คนทั้งหลายตายดีได้  แทนที่จะปล่อยให้แต่ละครอบครัวดิ้นรนขวนขวายกันเองเพื่อช่วยให้คนรักของตนตายอย่างสงบ  เราควรมีเครือข่ายที่ประชาชนผู้มีน้ำใจร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความสนับสนุนแก่ครอบครัวเหล่านี้  เช่น 

๑)เครือข่ายจิตอาสา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลจิตใจผู้ป่วยแล้ว  ยังช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแล เปิดโอกาสให้เขาได้พักผ่อนทั้งกายและใจ เช่น มาดูแลผู้ป่วยแทน หรือพาผู้ป่วยไปเที่ยว เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ จิตอาสาที่ไม่ถนัดดูแลผู้ป่วย อาจช่วยเหลือด้านอื่น เช่น ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยที่ไร้ญาติ หรือมีญาติที่เจ็บป่วยแก่ชรา    ญาติเหล่านี้ดูแลผู้ป่วยจนแทบไม่มีเวลาทำกิจวัตรอย่างอื่น ปล่อยบ้านให้รกรุรัง ไม่เกื้อกูลแก่ผู้ป่วย 

๒)เครือข่ายจัดหาอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยระยะท้าย  โดยเป็นศูนย์กลางรับบริจาคและส่งต่อ  อุปกรณ์บางอย่างเป็นของใหม่ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค บางอย่างเป็นของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เตียงพยาบาลหรือเครื่องทำออกซิเจน เนื่องจากผู้ป่วยได้เสียชีวิตแล้ว  ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากอยากทำบุญในลักษณะนี้ หรืออยากให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อไป แต่ไม่มีศูนย์กลางที่จะรองรับความประสงค์ดีดังกล่าว 

๓)เครือข่ายสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุข   มีบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมาก โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งดูแลผู้ป่วยจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน เกิดความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ   หากมีเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนการเยียวยาผ่อนคลายด้านจิตใจ มีการอบรมที่ช่วยให้วางใจได้ดีขึ้นกับภาระงานต่าง ๆ เขาก็จะมีพลังที่จะกลับไปทำหน้าที่ได้ต่อไป

๔)เครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง  ช่วยให้ญาติผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care)  รวมทั้งเป็นตัวกลางระหว่างญาติผู้ป่วยกับแพทย์และพยาบาลที่ทำงานด้านนี้  เครือข่ายนี้ในระยะยาวควรทำงานขับเคลื่อนผลักดันเพื่อให้ระบบสุขภาพของไทยมีความพร้อมหรือมีศักยภาพมากขึ้นในช่วยเหลือให้ผู้ป่วยตายดีได้ด้วย

เครือข่ายเหล่านี้เป็นเสมือนชุมชนที่เชื่อมประสานด้วยความเมตตากรุณา  เกิดจากความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก  ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ผู้หิวโหย คนยากจน คนพิการ คนแก่ชรา เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนป่วยที่อยู่ในระยะท้ายและญาติซึ่งทุกวันนี้รับภาระที่หนักขึ้นในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากครอบครัวมีขนาดเล็กลง หลายครอบครัวมีผู้ดูแลแค่คนเดียวหรือสองคน ผิดกับสมัยก่อนที่ผู้ป่วยแต่ละคนมีญาติมาช่วยดูแลมากหน้าหลายตา นอกจากลูกหลานซึ่งมีหลายคนแล้ว ยังมีลุงป้าน้าอา  ยิ่งในชนบทด้วยแล้ว เพื่อนบ้านซึ่งมักเป็นเครือญาติทั้งหมู่บ้าน ก็มาช่วยกันดูแลด้วย  นับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ แม้เทคโนโลยีจะมีไม่มากก็ตาม 

ความกรุณานั้นจะได้ผล ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมากแก่ผู้ทุกข์ยาก นอกจากประกอบไปด้วยความปรารถนาดี  อยากช่วยให้เพื่อนมนุษย์พ้นจากความทุกข์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของเขาเป็นสำคัญแล้ว การจัดการ เช่น การเชื่อมโยงประสานกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ความกรุณานั้นเกิดผลดีอย่างที่ต้องการ 

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีน้ำใจ มีเมตตากรุณาต่อผู้ทุกข์ยากเสมอมา  หากเรามีการรวมกลุ่มเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายด้วยสำนึกแห่งเมตตากรุณา และมีการจัดการที่ช่วยให้เมตตากรุณานั้นเกิดพลังในการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากอย่างแท้จริง เครือข่ายเหล่านี้ย่อมเติบใหญ่ และหากกระจายตัวไปทั่วประเทศ  จะทำให้พลังกรุณาของเมืองไทยมีความเข้มแข็ง แทรกซึมไปสู่จิตใจของผู้คน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ  ถึงตอนนั้นความกรุณาจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทรงพลังอย่างยิ่งในสังคมไทย

เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ชุมชนกรุณา นิมิตใหม่ของสังคมไทย ประกอบการประชุมชุมชนกรุณา นิมิตใหม่ของสังคมไทย วันที่ 14 พฤษภาคม 2562

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา