เรื่องเล่าดิจิทัล (Digital Storytelling) กับการสื่อสารสร้างทัศนคติที่ดีต่อการดูแลแบบประคับประคอง

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
19 พฤษภาคม 2565

ผู้เขียนได้ยินและได้เห็นเรื่องเล่าดิจิทัล หรือ Digital Storytelling ครั้งแรก ในงานประชุมนานาชาติด้านการสาธารณสุขและการดูแลแบบประคับประคอง Public Health and Palliative Care 2019 ที่ออสเตรเลีย ตัวชิ้นงานเองเป็นทั้งผลลัพธ์และการสื่อสารงานวิชาการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนงานดูแลแบบประคับประคอง

ด้วยเสน่ห์ของงานวิจัยแบบนี้ที่เสพง่าย (และมีวีดีโอให้ดู) วิทยากรเพียงเกริ่นถึงกรณีผู้ให้ข้อมูลในวีดีโอ เปิดวีดีโอให้ชม และตอบคำถามช่วงท้ายเท่านั้น งานนำเสนอส่วนที่เหลือคือการฉายวีดีโอให้ผู้ร่วมประชุมรับรู้เรื่องราวจากผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ดูแล ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ป่วยระยะท้ายในฮอซพิซ ด้วยเสียงและภาพประกอบของตนเอง หลังฉายจบค่อยเล่าเบื้องหลัง

ตัวอย่าง Digital Storytelling ของ Siniva Papali’i ชีวิตประจำวันของผู้อยู่ร่วมกับภาวะสมองเสื่อม

กระบวนการสร้างเรื่องเล่า

เรื่องเล่าดิจิทัล แม้ดูเผินๆ อาจเข้าใจว่าคือวีดีโอสารคดีชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตผู้ป่วย แต่ในทางญาณวิทยา เรื่องเล่าดิจิทัล ต่อยอดจากระเบียบวิธีวิจัยแบบเรื่องเล่า (Narrative Inquiry) ที่ให้ความสนใจกับประสบการณ์ของผู้เล่าเรื่องที่มักเป็นผู้อยู่ชายขอบของสังคม 

หากเป็นการวิจัยเรื่องเล่าดั้งเดิม เรื่องเล่าจะอยู่ในรูปบันทึกเรื่องเล่า โดยนักวิจัยจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างสัมพันธภาพกับผู้เล่าเรื่อง แล้วฟังประสบการณ์วิกฤตของผู้เล่าเรื่อง ปล่อยให้ผู้เล่าได้เปิดเผยเรื่องราวชีวิตของตนเองอย่างพรั่งพรูออกมาโดยนักวิจัยแทรกแซงให้น้อยที่สุด

แต่ในปัจจุบัน คนอ่านบันทึกเรื่องเล่าจากงานวิจัยกันน้อยลง นักวิจัยจึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้สื่อใหม่อย่างสื่อดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือสร้างเรื่องเล่าพร้อมไปกับการเล่าเรื่อง นักวิจัยทีมนี้สนใจประสบการณ์ของผู้สูงอายุ ผู้ดูแล ผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งผู้ป่วยระยะท้ายที่มีต่อการรักษาแบบประคับประคอง 

เริ่มจากรับสมัครกลุ่มคนเล่าเรื่อง ให้มาเล่าชีวิตของตนเองในพื้นที่ที่ผู้เล่าเรื่องรู้สึกปลอดภัย นักวิจัยอาจเตรียมหัวข้อของเรื่องเล่าง่ายๆ เช่น “สิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข” ผู้เล่าก็จะเล่าออกมา 

ระหว่างเล่า ทีมวิจัยซึ่งมีทั้งนักวิชาการ ทีมถ่ายวีดีโอ ทีมตัดต่อ จะช่วยกันฟัง และเสนอว่าจะเล่าให้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างไร ฟุตเตจมีคำสัมภาษณ์ การถ่ายชีวิตประจำวันของผู้เล่าเรื่อง การสอดแทรกภาพถ่ายที่ผู้เล่าเรื่องเตรียมมา (และอื่นๆ เท่าที่จะหาฟุตเตจมาได้) คนตัดต่อก็ตัดต่อไป ตัดเสร็จก็ถามทวนกับผู้เล่าว่าต้องการสื่อแบบนี้ใช่ไหม หากไม่ใช่ก็กลับไปแก้ซ้ำ จนกระทั่งได้ชิ้นงาน Digital Storytelling ออกมาชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องเล่าให้จบภายใน 2-4 นาที ตามสมาธิอันจำกัดของคนยุคนี้

เรื่องเล่าของเสียงที่ตกหล่น

งานนำเสนอที่น่าสนใจมากๆ คือ ผลงาน Digital Storytelling ของผู้ป่วยสมองเสื่อม แม้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความจำและเล่าเรื่องได้ไม่ปะติดปะต่อนัก แต่นักวิจัยก็อาศัยความเพียรในการถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าป้าต้องการเล่าอย่างนี้ใช่ไหม กว่าจะได้สคริปเรื่องเล่าหนึ่งหน้าเอสี่ก็หมดค่ารถไปหลายเที่ยว งานชิ้นนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า แม้ในผู้ป่วยที่มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร ขอเพียงเราต้องการฟังเสียงของเขาจริงๆ ในที่สุดเสียงของเขาก็จะส่งมาถึงเราได้

เรื่องเล่าดิจิทัลที่ไปไกลกว่านั้นคือ การทำเรื่องเล่าของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพูด นักวิจัยก็ใช้เสียงสังเคราะห์จากเครื่องช่วยพูดมาพูดแทน หรือแม้แต่ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายในฮอซพิซ ซึ่งมีข้อห้ามเกี่ยวกับการบันทึกภาพที่เข้มข้นที่สุด Digital Storytelling ก็ยังเล่าเรื่องของพวกเขาออกมาได้ 

การปรากฏขึ้นของเรื่องเล่าดิจิทัล มีเรื่องที่น่าอภิปรายว่า แม้คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้รับบริการในระบบสุขภาพกลุ่มหลัก แต่บุคลากรสุขภาพมักไม่ค่อยได้ยินเสียงสะท้อนจากพวกเขาเท่าใดนัก (ทั้งข้อเสนอแนะและคำขอบคุณ) เหตุที่ไม่ได้ยินเพราะกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ “จริยธรรมการวิจัย” ซึ่งมักเป็นตัวปิดกั้นให้นักวิจัยถอดใจที่จะศึกษาเรื่องเล่าของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา ฯลฯ จนทำให้ภาพถ่ายหรือวีดีโอของคนกลุ่มนี้หาดูได้ยาก จนประชาชนทั่วไปอาจมีภาพจำ หรือจินตนาการที่ไม่ตรงกับความจริง

นักวิจัยทีมนี้พบว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยระยะท้ายหลายคน มีความยินดีและต้องการให้ร่างกายของตนปรากฏแก่สาธารณะ งานวีดีโอหลายชิ้นช่วยคลายอคติเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อมว่าต้องมีแต่ภาพความชรา หง่อม และช่วยตัวเองไม่ได้ ช่วยสื่อสารด้วยฟุตเตจไม่กี่วินาทีว่า ในหลายๆ โอกาสสมองเสื่อมยังคงยิ้มแย้มแจ่มใส ทำกิจกรรมสังคมได้ และช่วยเหลือตัวเองได้

งาน Digital Storytelling ยังให้ผลดีด้านการขยายผลและสื่อสารงานวิจัยในวงกว้างเพราะเผยแพร่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ ทั้งยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดีความเจ็บป่วย ความแก่ ความเสื่อม และความตาย ด้วยเรื่องเล่าที่จับใจ ซาบซึ้ง และมีอารมณ์ขัน อันเป็นภารกิจหนึ่งของแนวคิดชุมชนกรุณา

ท่านใดที่สนใจ ลองตามไปดูโครงการ ‘What Makes you Happy’ ได้จากทีมวิจัย Te Arai Research Group, Palliative Care & End of Life Research – New Zealand ได้ที่ https://tearairesearchgroup.wordpress.com/resources/what-makes-you-happy-video-series/


ปรับปรุงจาก Facebook Status ของเอกภพ สิทธิวรรณธนะ เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562

ภาพประกอบจาก Digital Storytelling เรื่อง Wednesday Morning โครงการ What makes you happy video series โดย Te Arai Research Group, Palliative Care & End of Life Research – New Zealand ติดตามได้ที่ https://tearairesearchgroup.wordpress.com/resources/what-makes-you-happy-video-series/

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา