การพัฒนาความรู้เท่าทันความตาย

เรียบเรียงโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
11 พฤษภาคม 2565

Key Message

  • ความรู้เท่าทันความตาย คือ ชุดความรู้และทักษะที่บุคคลจำเป็นต้องมี เพื่อทำความเข้าใจ เข้าถึงการรับบริการ และตัดสินใจเลือกการดูแลชีวิตช่วงท้ายและการตายของตนเองและผู้ป่วย
  • การพัฒนาความรู้เท่าทันความตายประกอบด้วย การพัฒนาความรู้ ทักษะ ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และการปฏิบัติทางสังคม

ชุมชนกรุณา (Compassionate Communities) เสนอว่าความเจ็บป่วย การตาย การดูแล และความสูญเสีย เป็นธุระที่ไม่อาจฝากไว้ให้บุคลากรสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญดูแลแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ (Death is everybody’s business) เมื่อนั้น เราทุกคนจึงสามารถดูแลความเจ็บป่วยช่วงท้าย การตาย และความสูญเสียอย่างมีคุณภาพได้ที่บ้านและชุมชน ลดการพึ่งพิงระบบสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อหลักประการหนึ่งของการสาธารณสุขแห่งการดูแลแบบประคับประคอง (Public Health Palliative Care) ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายและผู้ดูแลได้ในระดับประชากร

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การตาย ประคับประคองการดูแลและความสูญเสียได้นั้น บุคคลและชุมชนจำเป็นต้องมีศักยภาพบางประการที่ช่วยให้เราดูแลความทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องกับความเจ็บป่วยและความสูญเสียข้างต้นได้ เราเรียกสิ่งนั้นว่า “ความรู้เท่าทันความตาย” (Dealth Literacy) [1]

ความรู้เท่าทันความตายคืออะไร

แนวคิดความรู้เท่าทันความตาย ได้รับการเสนอโดยกลุ่มนักวิชาการด้านการสาธารณสุขการดูแลแบบประคับประคอง ประเทศออสเตรเลีย จากโครงการวิจัยช่วงปี 2009-2015 ศึกษาประสบการณ์ผู้ดูแลและเครือข่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวน 308 คน ผ่านการสัมภาษณ์แบบกลุ่มและแบบเดี่ยว ข้อค้นพบหนึ่งจากการศึกษาคือ ผู้ดูแลจำนวนหนึ่งที่สามารถดูแลความเจ็บป่วยและการตายได้อย่างมีคุณภาพ มีสมรรถนะที่เรียกว่า ความรู้เท่าทันความตาย ซึ่งหมายถึง ชุดความรู้และทักษะที่บุคคลจำเป็นต้องมี เพื่อทำความเข้าใจ เข้าถึงการรับบริการ และตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลชีวิตช่วงท้ายและการตายของบุคคลและผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแล บุคคลและชุมชนที่มีระดับความรู้เท่าทันความตายสูง จะมีความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติ จนสามารถดูแลชีวิตช่วงท้ายที่สอดคล้องกับบริบทและระบบความตายของพวกเขา (the set of knowledge and skills that people need to make it possible to gain access to, understand, and make informed choices about end of life and death care options. People and communities with high levels of death literacy have context specific knowledge about the death system and the ability to put that knowledge into practice.) [2]

ความรู้เท่าทันความตายจึงไม่ได้หมายถึงความรู้เชิงความคิดทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเป็นภูมิปัญญาเชิงปฏิบัติ อีกทั้งเป็นทรัพยากรที่เป็นความรู้และทักษะ หรือสมรรถนะ (capacity) อันช่วยให้บุคคลและชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถรับมือกับการดูแลการตายที่จะมาถึงอย่างแน่นอนในอนาคต

ความรู้เท่าทันความตาย คือชุดความรู้และทักษะที่บุคคลจำเป็นต้องมี เพื่อทำความเข้าใจ เข้าถึงการรับบริการ และตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลชีวิตและการตายของบุคคลและผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแล

Noonan, K., Horsfall, D., Leonard, R., & Rosenberg, J. (2016, 2016/01/02). Developing death literacy. Progress in Palliative Care, 24(1), 31-35. https://doi.org/10.1080/09699260.2015.1103498 

ข้อเสนอองค์ประกอบความรู้เท่าทันความตาย

นูแนนและคณะเสนอว่า เพียงการเรียนรู้ความตาย (Death education) ผ่านการบรรยายนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ แต่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการดูแลและได้ลงมือปฏิบัติ คณะวิจัยยังพบว่า แม้ผู้ดูแลที่ไม่เคยเรียนวิชาการเกี่ยวกับความตายมาก่อน ก็สามารถดูแลความเจ็บป่วยระยะท้าย นำพาผู้ป่วยสู่การจากไปอย่างสงบได้ผ่านการ ‘มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการดูแลการตายและความตาย’ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการสังเกต หรือลงมือดูแลด้วยตนเอง คณะวิจัยจึงเสนอว่าความรู้เท่าทันความตายมีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skill) การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential learning) และการปฏิบัติทางสังคม (Social Action)

ความรู้เท่าทันความตาย ก็เช่นเดียวกับสมรรถนะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอื่นๆ คือเป็นสิ่งที่ฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาได้ ผู้มีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน นักพัฒนา กระบวนกร ผู้นำนโยบายสังคมและสุขภาพ สามารถพิจารณาแนวทางการพัฒนาความรู้เท่าทันความตายตามองค์ประกอบต่างๆ ดังรายการต่อไปนี้

การเพิ่มความรู้เกี่ยวกับความตาย

  • ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การดูแลทางการแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับเครือข่ายการดูแลในระบบสุขภาพแก่ผู้ป่วยและครอบครัว
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแบบประคับประคอง
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคองที่บ้านหรือที่ชุมชน
  • สนับสนุนความรู้เรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้า การวางแผนช่วงท้าย การจัดทำพินัยกรรมชีวิต การวางแผนงานศพ

การเพิ่มทักษะที่จำเป็น

  • ส่งเสริมให้ผู้ดูแลมีทักษะการดูแลกาย เพิ่มความสุขสบาย ลดอาการรบกวนแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมการดูแลการตาย การทำศพ และงานศพ
  • พัฒนาทักษะเจรจาต่อรองกับบุคลากรสุขภาพ
  • จัดกิจกรรมสนทนาเรื่องชีิวิตและความตาย 

การสนับสนุนการเรียนรู้การตายผ่านประสบการณ์

  • ส่งเสริมการเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายในเครือข่ายครอบครัวและชุมชน
  • สนับสนุนการดูแลระยะท้ายที่บ้านหรือชุมชน
  • สร้างพื้นที่เรียนรู้ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หาโอกาสชื่นชม ขอบคุณ ผู้ดูแล
  • สร้างโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน

การสนับสนุนการปฏิบัติทางสังคม

  • สนับสนุนกิจกรรมการพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตและความตาย 
  • สนับสนุนกิจกรรมวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือการเขียนพินัยกรรมชีวิตกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน และบุคลากรสุขภาพ
  • สนับสนุนกิจกรรมการแบ่งปันความรู้ ทักษะ ประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในเครือข่ายชุมชน
  • สนับสนุนกิจกรรมอาสาสมัครสนับสนุนกิจวัตรประจำวันให้ผู้ป่วยเรื้อรัง ระยะท้าย หรือสนับสนุนผู้ดูแล สนับสนุนการดูแลข้างเตียง
  • จัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน เยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้ายในชุมชน จนการเยี่ยมดูแลเป็นปกติธรรมดาในชุมชน
  • สนับสนุนกิจกรรมเพื่อนบ้านดูแลกัน เช่น การเฝ้าระวังการตายอย่างโดดเดี่ยว การถามไถ่ทุกข์สุขผู้ดูแล เป็นต้น

เหล่านี้ คือข้อเสนอแนวทางการพัฒนาความรู้เท่าทันความตายในแต่ละองค์ประกอบ นูแนนและคณะยังเสนอให้จัดทำ ดัชนีความรู้เท่าทันความตาย (Death Literacy Index) ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดของชุดความรู้และทักษะที่จำเป็น เพื่อเป็นเครื่องมือประเมินผลความรู้เท่าทันความตายของบุคคลและเครือข่ายชุมชนอีกด้วย การประเมินความรู้เท่าทันความตาย จะนำไปสู่การรู้จักตัวเราและชุมชนของเราว่ามีความพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายที่เกี่ยวเนื่องกับความตายอย่างไร มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ใดบ้างที่ควรพัฒนาเพิ่มพูนมากขึ้น

ปัจจุบันงานศึกษาดัชนีความรู้เท่าทันความตายของทีมซิดนีย์ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ท่านที่สนใจสามารถติดตามงานของ Leonard, R และคณะ [1] ที่เอกสารอ้างอิงด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

[1] Leonard, R., Noonan, K., Horsfall, D., Psychogios, H., Kelly, M., Rosenberg, J. P., Rumbold, B., Grindrod, A., Read, N., & Rahn, A. (2020). Death literacy index: A report on its development and implementation. 

[2] Noonan, K., Horsfall, D., Leonard, R., & Rosenberg, J. (2016, 2016/01/02). Developing death literacy. Progress in Palliative Care, 24(1), 31-35. https://doi.org/10.1080/09699260.2015.1103498 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา