เราจะช่วยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองได้อย่างไร

การดูแลแบบประคับประคองคือการดูแลปัญหาองค์รวมทางกาย จิตสังคม กฎหมาย และจิตวิญญาณ ที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยที่มีชีวิตเหลือจำกัด ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเข้าถึงการดูแลแบบประคัปประคองจากหลากหลายแหล่งบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิกผู้ป่วยนอก ฮอซพิซ สถานดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลสุขภาพชุมชน และที่บ้าน การดูแลหหแบบประคับประคองคือพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุสุขภาวะ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิ์พื้นฐานของมนุษย์ การดูแลแบบประคับประคองสามารถเริ่มทำตั้งแต่แรกวินิจฉัย และดูแลควบคู่ไปกับการรักษาตามปกติ (Brennan, F., 2008)

ในเมื่อการดูแลแบบประคับประคองเป็นสิทธิ์พื้นฐาน คำถามคือ เราจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้อย่างไร

เอกสารเรื่อง Palliative Care the New Esssentials (Abel et al., 2018) เสนอว่า การดูแลคุณภาพชีวิตช่วงท้าย การตาย และความสูญเสียที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรในสังคม ควรประกอบด้วย 4 องคาพยพหลัก ได้แก่ 

1) Specialist Palliative Care (บุคลากรสุขภาพชำนาญการด้านการดูแลแบบประคับประคอง) สำหรับดูแลกรณีความเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้ที่ชำนาญการ บุคลากรส่วนนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก และอาจเป็นครูอาจารย์ ทำงานวิจัยและจัดการเรียนการสอน ฝึกอบรมการดูแลแบบประคับประคองให้แก่บุคลากรสุขภาพและประชาชน

2) Generalist Palliative Care (บุคลากรสุขภาพทั่วไปที่เข้าใจแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง) สำหรับดูแลความทุกข์ทรมานที่ไม่ซับซ้อน บุคลากรนี้ประกอบด้วยแแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร นักบวช ผู้นำทางจิตวิญญาณ บุคลากรสุขภาพชุมชน อาสาสมัครดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลและชุมชน และบุคลากรสุขภาพอื่นๆ

3) Compassionate Communities (ชุมชนกรุณา) คือสมาชิกชุมชน หรือเครือข่ายสังคมรอบๆ ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ดูแลความเจ็บป่วย ความตาย การดูแล และความสูญเสีย ที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนผู้ป่วยและครอบครัว อาจสนับสนุนในมิติที่เกี่ยวกับกับการดูแลความเจ็บป่วยกายใจ หรือดูแลช่วยเหลือด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น ลดน้ำต้นไม้ พาสุนัขไปเดินเล่น ทำอาหารให้ รวมทั้งการสนับสนุนครอบครัวของผู้ป่วยคนอื่นๆที่อาจประสบทุกข์ แม้การดูแลเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มักส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
เราอาจเรียกชุมชนกรุณาว่าเป็น โอสถแห่งความสัมพันธ์ (Social Precribing) 
ชุมชนกรุณา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านและชุมชนเป็นไปได้ เพราะช่วยให้เครือข่ายผู้ดูแลมือหนึ่งที่มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมีจำนวนที่มากพอ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายผู้ดูแลมือสองและชุมชน 

4) Civic Programme for Compassionate City Charter หรือภาคประชาสังคมที่สนับสนุนกฎบัตรเมืองกรุณา องคาพยพนี้ คือการปลูกฝังให้พลเมืองมีความกรุณา มีทักษะการดูแลความเจ็บป่วย ความตาย การดูแล และความสูญเสีย ผ่านนโยบายสาธารณะ เช่น การศึกษาในระบบการศึกษา มีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการสนับสนุนพนักงานที่เจ็บป่วยหรือเผชิญความสูญเสีย การฝึกอบรมบุคลากรทางศาสนาในการเยียวยาความทุกข์ใจจากวิกฤติของชีวิต การมีส่วนร่วมของสถาบันศิลปะ สื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือดูแลกันในยามวิกฤตของชีวิตอย่างมีความรู้และทักษะที่เพียงพอ

การสนับสนุนให้องคาพยพทั้งสี่ทำงานได้อย่างเต็มที่ เชื่อมร้อยประสานกัน จึงจะทำให้ประชาชนทั่วทั้งสังคมได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึง

เรียบเรียง เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

เอกสารอ้างอิง
Brennan, F., Gwyther, L., & Harding, R. (2008). Palliative care as a human right.
Abel, J., Kellehear, A., & Karapliagou, A. (2018). Palliative care-the new essentials

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา