แนวทางการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องการอยู่และตายดีแบบ Active Learning

เขียนโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
2022-7-14

การเรียนรู้ความตาย หรือ Death Education เป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ (Health Promotion and Prevention Approach) ที่ช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตช่วงท้ายและการตายดีที่ให้ผลที่คุ้มค่า ประชาชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ย่อมมีแนวทางในการดูแลตัวเอง สามารถเลือกและตัดสินใจการดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว มีโอกาสจะเข้าถึงการตายดีได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การจัดกระบวนการเรียนรู้สนับสนุนการอยู่และตายดี ก็เป็นเรื่องท้าทาย เพราะความตายเป็นเรื่องสิ่งที่คนจำนวนมากคิดว่ายังไม่สำคัญ คิดว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดไม่น่าจะตายเร็วๆ นี้ เป็นหัวข้อที่ไม่สบายใจที่จะเรียนรู้ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่สนใจจะเรียนรู้เพราะกำลังหรือเคยเผชิญการดูแลความตายและการสูญเสียมาแล้ว คนเหล่านี้อาจตระหนักว่าการเรียนรู้เรื่องการดูแลการตายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น และไม่ว่าอย่างไรเราทุกคนย่อมต้องใช้ความรู้วิชาความตายในสักวัน ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม

คำถามคือ ในหากเราทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ เราจะออกแบบการเรียนรู้เรื่องการอยู่ดี ตายดีอย่างไรให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ ภายใต้เงื่อนไขของกลุ่มเป้าหมาย เวลา โอกาส ทรัพยากร และสถานที่ที่มีอยู่

บทความนี้นำเสนอแนวทางการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ 7 ขั้นตอน ที่ครูอ้อ หทัยรัตน์ สุดา ได้แนะนำไว้ในงานอบรมหลักสูตรการออกแบบกระบวนการเรียนรู้สำหรับกระบวนกรชุมชนกรุณา ที่บ้านไม้หอม พระราม 2 วันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2565 โดยบทความนี้จะสรุปหลักการทั้ง 7 ขั้นตอน และตัวอย่างการออกแบบแผนการสอนสั้นๆ ท้ายบทความ

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สนับสนุนการอยู่และตายดี 7 ขั้น ประกอบด้วยการตอบคำถาม 7 ข้อ ดังนี้

  1. Who ผู้เรียนเป็นใคร
  2. Why ทำไมผู้เรียนต้องเรียนกับเรา การวิเคราะห์สถานการณ์ และความจำเป็นที่ทำให้ผู้เรียนต้องมาเรียนรู้เรื่องการอยู่และตายดี
  3. When สอนเมื่อไหร่
  4. Where สอนที่ไหน สถานที่สอนเป็นอย่างไร
  5. What สอนอะไร
  6. What for สอนเพื่ออะไร
  7. How กระบวนการสอนเป็นอย่างไร

7 ขั้น สู่การออกแบบการเรียนรู้แบบแอคทีฟ

1. Who ผู้เรียนเป็นใคร

คือการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้เรียน สไตล์การเรียนรู้ และโจทย์ของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้มากที่สุด

ผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ควรตอบคำถามต่อไปนี้ก่อนจัดกระบวนการเรียนรู้

  • ผู้เรียนเป็นใคร มีจำนวนกี่คน
  • ผู้เรียนถนัดการเรียนรู้วิธีใด (ถนัดฟัง ถนัดดู ถนัดลงมือทำ)
  • ผู้เรียนคิด รู้สึก อย่างไรต่อประเด็นที่เราสอน
  • หลังจากเรียนกับเราแล้ว ผู้เรียนควรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เขาควรจะคิด รู้สึก หรือลงมือทำอะไรบ้าง
  • ผู้สอนจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้ว

2. Why ทำไมผู้เรียนต้องเรียนกับเรา

ผู้สอนควรตอบตัวเองได้ว่า ทำไมผู้เรียนต้องมาเรียนเรื่องการอยู่ดี ตายดีกับเรา การเรียนรู้เรื่องการอยู่ดีตายดีจะเกิดประโยชน์อะไรกับผู้เรียนบ้าง ผู้สอนจึงต้องวิเคราะห์สถานการณ์ ความต้องการ และความจำเป็นที่ทำให้ผู้เรียนต้องมาเรียนรู้เรื่องการอยู่และตายดี

ต่อไปนี้เป็นเหตุผลบางประการที่ผู้เขียนตอบตัวเองว่า ทำไมประชาชนควรเรียนรู้เรื่องการอยู่และตายดี

  • เพราะเราทุกคนต้องตาย ผู้มีความรู้ ทักษะในการดูแลการตาย น่าจะมีทางเลือกในการดูแลการตายของตนเองและคนที่เรารักมากกว่า มีความพร้อมมากกว่า ยอมรับการตายได้มากกว่า
  • เพราะการตายที่ไม่ได้เตรียมตัว ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทั้งช่วงก่อนตาย ขณะตาย และหลังสูญเสีย
  • เพราะความตายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่กลัวและกังวล ความกลัวตายเป็นเหตุผลหลักๆ ของความกลัวสิ่งอื่นๆ ในชีวิต หากเราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและรับมือความตาย เราอาจจะรับมือกับความกลัวอื่นๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น
  • การดูแลการตายของคนที่รักได้อย่างสงบ ไร้ความรู้สึกผิดติดค้าง ทำให้เรามีความมั่นคง มีวุฒิภาวะ มีความเชื่อมั่นที่จะดูแลคนที่เรารักในวาระสุดท้ายของชีวิตมากขึ้น
  • การดูแลสมาชิกในครอบครัวและชุมชนของเราให้เผชิญกับความตาย และจากไปอย่างสงบ ทำให้ชุมชนของเราเข้มแข็ง ปลอดภัย มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น
  • การดูแลการตายในสังคมสมัยใหม่ ผู้ป่วยและครอบครัวมักต้องข้องเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อน มีรายละเอียด สามารถให้ทั้งความสุขสบายและความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้ หากเรามีความรู้เท่าทันการดูแลการตาย และระบบสุขภาพ เราจะสามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็น ได้รับการคุ้มครองดูแลตามสิทธิ์ประโยชน์ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี พูดอย่างง่ายคือกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าถึงการตายดีมากที่สุดคือกลุ่มคนที่มีความรู้เท่าทันความตาย (Death Literacy) มากที่สุด เป็นต้น

3. When สอนเมื่อไหร่

ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้กำหนดระยะการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้เรียน หรือผู้จ้าง ออกแบบว่าหลักสูตรที่จะสอนควรจะมีกี่คาบ คาบหนึ่งจะใช้เวลา 60 นาที หรือ 90 นาที ออกแบบเวลาเริ่มต้น เวลาพัก เวลาสิ้นสุดการเรียน

4. Where สอนที่ไหน

กำหนดสถานที่และรูปแบบการจัดห้องเรียน เช่น แบบโรงละคร แบบตัว U แบบวงกลม แบบแบ่งกลุ่มย่อย

5. What สอนอะไร

เมื่อเรารู้แล้วว่าสถานการณ์ชีวิต สังคม และสุขภาพ เป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะเขียนเนื้อหาการเรียนรู้ว่าเราจะให้ข้อมูล นำเสนอ สอน ให้คำแนะนำผู้เรียนด้วยเนื้อหาต่างๆ เนื้อหาการเรียนรู้มีลักษณะเป็น “ประโยคบอกเล่า” ในลักษณะ อะไรคืออะไร ความจริงเป็นอย่างไร สิ่งต่างๆ ควรเป็นอย่างไร

การออกแบบเนื้อหา ควรคำนึงถึงกรอบเวลาและสถานที่ หลีกเลี่ยงการให้เนื้อหาที่มากเกินไปในเวลาที่จำกัด และควรสอนสิ่งที่สำคัญจำเป็นต้องรู้เสียก่อน หากมีเวลาเพิ่มเติมค่อยสอนเนื้อหาลักษณะ “รู้ไว้ใช่ว่า”

6. What for สอนเพื่ออะไร

คือการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้ทำในกระบวนการเรียนรู้ เช่น ผู้เรียนอธิบายการดูแลแบบประคับประคองได้ ผู้เรียนได้ฝึกสนทนาเรื่องความตาย

การจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องชีวิตและความตาย สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในระดับที่เข้มข้นมากน้อย ครูอ้อเสนอคำที่ใช้เขียนวัตถุประสงค์ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงความรู้ความเข้าใจ (Head) เช่น ผู้เรียนสามารถจำได้ว่า อธิบายได้ว่า ตีความได้ว่า
  • การเปลี่ยนแปลงที่ระดับการลงมือทำ (Hand) เช่น ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ ผู้เรียนสามารถทำได้
  • การเปลี่ยนแปลงที่ระดับอารมณ์ความรู้สึก (Heart) เช่น ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงมุมมอง ผู้เรียนรู้สึกร่วม ผู้เรียนรู้แจ้ง (เกิดปัญญา)

หรือเราอาจจะใช้กรอบลำดับขั้นการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s taxonomy) มาเป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ก็ได้ ลำดับขั้นการเรียนรู้ต่างๆ มีดังนี้

  • Remember ผู้เรียนจำได้ว่า รับรู้ว่า
  • Understand ผู้เรียนอธิบายได้ว่า เข้าใจความสัมพันธ์เชิงเหตุผลได้ว่า
  • Apply ผู้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป แก้ปัญหาได้ สาธิตได้ ตีความได้
  • Analyse ผู้เรียนสามารถแยกแยะองค์ประกอบ เปรียบเทียบความแตกต่าง ทดสอบ ทดลอง ตั้งคำถามได้
  • Evaluate ผู้เรียนสามารถประเมิน ตัดสิน ชั่งน้ำหนัก ตัดสินใจเลือก วิพากษ์วิจารณ์ได้
  • Create ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ออกแบบ พัฒนา ประกอบสร้าง ผลิตได้
ภาพจาก https://www.valamis.com/hub/blooms-taxonomy

หมายเหตุ

การออกแบบเนื้อหา และกระบวนการเรียนรู้ ควรออกแบบวัตถุประสงค์จากระดับล่างขึ้นไปในระดับการเรียนรู้ที่สูงขึ้น

7. How กระบวนการสอนเป็นอย่างไร

ออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ Active โดยใช้หลัก 4A ประกอบด้วย

  • Anchor การยึดโยงเนื้อหาเข้ากับประสบการณ์หรือความรู้เดิมของผู้เรียน เช่น การใช้คำถามว่า คุณมีความรู้ ความคิดเห็น รู้สึก หรือประสบการณ์อย่างไรบ้างต่อเรื่องที่จะเรียน การถามว่าว่าผู้เรียนมีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียน การใช้สื่อเกริ่นน้ำหรือกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
  • Add การเติมเนื้อหาความรู้ใหม่ที่ผู้สอนเตรียมมา (และผู้เรียนยังไม่รู้) การเติมเนื้อหาอาจอยู่ในรูปของการบรรยาย งานวิจัย ทฤษฎี การฉายวีดีโอ การสาธิต
  • Apply ให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ มีประสบการณ์หรือลงมือทำจากเนื้อหาที่ผู้สอนเพิ่งสอนไป อาจฝึกแก้ไขโจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์ที่ผู้เรียนกำลังเผชิญ กิจกรรมการเรียนรู้การประยุกต์ได้แก่ การคิด เขียน พูดคุย อภิปราย วิเคราะห์กรณีศึกษา ตั้งคำถาม ออกแบบ การลงมือทำ ฯลฯ
  • Away การนำไปใช้ ผู้สอนกระตุ้น สร้างความมั่นใจในการนำบทเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวัน อาจตอบคำถามที่ผู้เรียนยังค้างคา หรือการเกริ่นนำเพื่อเข้าสู่บทเรียนต่อไป

หมายเหตุการจัดกระบวนการ

  • ขั้น Add และ Apply อาจจะสลับกันก็ได้ เช่น การให้ลงมือทำก่อน แล้วค่อยเติมเนื้อหา
  • การสอนคาบหนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ บางคาบอาจเน้นองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง แต่การจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรหนึ่งจำเป็นต้องมีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ

ทั้งนี้ การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active ผู้จัดกระบวนการควรคำนึงถึงหลักการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ได้แก่

  1. Safe ความปลอดภัย จัดห้องเรียนให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัย
  2. Respect การให้ความเคารพ
  3. Relevency ความเกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่า ส่ิงที่กำลังเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเอง
  4. Immediacy ความเป็นประโยชน์ ทำให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ของสิ่งที่กำลังจะเรียน และสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ได้
  5. Engagement ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้
  6. Inclusion ทำให้ผู้เรียนรู้สึกตนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้

ครูอ้อ หทัยรัตน์ สุดา กับการอบรมการออกแบบกระบวนการเรียนรู้สำหรับกระบวนกรชุมชนกรุณา ที่บ้านไม้หอม พระราม 2

ตัวอย่างการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้ากับผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

Who
ผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ดูแลกลุ่มนี้มักยังไม่มีความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และอาจมองไม่เห็นทางเลือกเมื่อพัฒนาการของโรคดำเนินมาจนถึงจุดที่รักษาไม่หาย ผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีเวลารับสุขศึกษาในช่วงการพาผู้ป่วยมาหาหมอ ควรจัดกระบวนการเรียนรู้หลังจากที่ผู้ดูแลทราบข่าวร้ายระยะหนึ่ง

Why
ผู้ดูแลและผู้ป่วยที่มีประสบการณ์วางแผนดูแลล่วงหน้า ทราบข้อมูลและทางเลือกของการรักษา ทราบสิทธิ์ที่จะซักถามข้อมูลสุขภาพและเลือกแนวทางการรักษาของตน จะมีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ยอมรับความจากพรากสูญเสีย สามารถวางแผนการดูแลทั้งในระยะที่ผู้ป่วยป่วยเรื้อรังและเข้าสู่ระยะท้ายของโรค รู้สึกพึงพอใจในการดูแลของบุคลากรสุขภาพมากกว่า ลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าจากความสูญเสีย

What
การวางแผนดูแลล่วงหน้า หรือการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Planning) คือกิจกรรมที่เป็นกุญแจสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยเลือกแนวทางการดูแลรักษาทั้งในช่วงที่เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคที่คุกคามชีวิต และในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต การวางแผนดูแลล่วงหน้ามีจุดเน้นที่ “การสื่อสาร” มิใช่ “เอกสาร” การวางแผนดูแลล่วงหน้าที่สมบูรณ์คือการสื่อสารร่วมกันสามฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ป่วย ผู้ดูแลใกล้ชิด (ครอบครัว)

ประเด็นสำคัญในการวางแผนดูแลล่วงหน้าประกอบด้วย 1) การให้คุณค่าและความหมายเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ชีวิต และความตาย 2) ใครคือผู้ตัดสินใจแทนกรณีผู้ป่วยหมดความสามารถในการสื่อสาร 3) การตัดสินใจเลือกทางเลือกต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย เช่น จะผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัด จะล้างไตหรือไม่ล้าง ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะให้แพทย์ยื้อชีวิตหรือดูแลให้จากไปอย่างสงบ โดยผู้ป่วยและครอบครัวควรได้ตัดสินใจร่วมกัน โดยบุคลากรสุขภาพเป็นผู้ให้ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ 4) การดูแลมิติจิตใจ สังคม จิตวิญญาณ 5) การจัดการร่างกายและงานศพ การวางแผนดูแลล่วงหน้าไม่จำเป็นต้องวางแผนในทุกประเด็นในรวดเดียว และผู้ป่วยอาจเปลี่ยนใจ เปลี่ยนแผนการดูแลเมื่อไหร่ก็ได้

ข้อสรุปจากการการวางแผนดูแลล่วงหน้า อาจบันทึกไว้ในความทรงจำของผู้ร่วมวางแผนด้วยกัน แต่ก็เป็นการดีหากจะบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของสมุดเบาใจ หรือบันทึกการพยาบาล (Nurse note) หรือบันทึกข้อความ หรือพินัยกรรมชีวิต

เกมไพ่ไขชีวิต ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในการวางแผนดูแลล่วงหน้า สร้างแรงจูงใจในการวางแผนดูแลล่วงหน้าหรือการเขียนพินัยกรรมชีวิต

What for
ผู้เรียนมีมุมมองต่อการวางแผนดูแลล่วงหน้าในเชิงบวก
ผู้เรียนสามารถนำบทสนทนาจากห้องเรียน หรือสมุดเบาใจ ไปทำการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้ผู้ป่วยในการดูแลได้

When
เวลา 8.00 – 10.00 น. รวมระยะเวลา 2 ชั่วโมง

Where
ที่ห้องสุขศึกษา อาคาร A โรงพยาบาล xxx

How

8.00 – 9.00 น.
Anchor ผู้สอนอุ่นเครื่องผู้เรียนโดยเสนอคำถามว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ดูแลสุขสบายมากน้อยเพียงใด ให้คะแนนจาก 1(ไม่สุขสบาย) – 5 (สบายมาก)
ผู้สอนถามคำถามผู้เรียนว่า “ผู้ดูแลเคยคุยเรื่องการดูแลช่วงท้าย และความตายบ้างหรือไม่” การคุยหรือไม่คุยให้ส่งผลอย่างไร
Add ผู้สอนให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสียและข้อดีของการไม่ได้คุยเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลก่อนเสียชีวิต
Apply ผู้สอนนำคำถามจากเกมไพ่ไขชีวิตมาชวนสนทนากับผู้เรียน
Away ผู้สอนถามว่าวันนี้ได้คุยเรื่องความตายแล้วเป็นอย่างไร มีคำถามใดที่น่านำไปคุยกับผู้ป่วยบ้าง

9.10 – 10.00 น.
Anchor ผู้สอนถามผู้เรียนว่า ผู้เรียนเคยได้ยินคนใกล้ตายสั่งเสียหรือไม่ ถ้าเคย รู้สึกอย่างไรต่อการสั่งเสีย
Add ผู้สอนแนะนำสมุดเบาใจว่าเป็นแบบฟอร์มในการสั่งเสียอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ระบบสุขภาพของรัฐยอมรับ
Apply ผู้สอนให้ผู้เรียนลองเขียนสมุดเบาใจ ใช้เวลา 20 นาที โดยทำหน้า 6-7 ก่อน แล้วค่อยทำหน้าอื่นๆ
Away ผู้สอนถามว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อได้เขียนสมุดเบาใจ (อาจใช้บัตรคำจากไพ่ฤดูฝนช่วยให้ผู้เรียนสะท้อนความรู้สึก) ถ้าผู้ดูแลจะนำสมุดเบาใจไปสอบถามผู้ป่วย มีข้อติดขัดหรือข้อกังวลอะไรบ้าง

ท่านสามารถดาวน์โหลด Template ไฟล์ Word Template การออกแบบการเรียนรู้แบบแอคทีฟ 7 ขั้น ได้ที่นี่

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา