“เยียวยาใจและชุมชน” คำขวัญรณรงค์ World Hospice and Palliative Care Day 2022

เขียนโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2565

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา องค์กร World Hospice and Palliative Care Alliance ได้เสนอหัวข้อวันฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคองโลกซึ่งจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี

สำหรับปีนี้ เสนอคำขวัญว่า Healing hearts & Communities (เยียวยาใจและชุมชน) รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการดูแลความโศกเศร้าจากความสูญเสียและการดูแลแบบประคับประคอง เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความทุกข์จากความสูญเสีย

ประเด็นรณรงค์

  1. เราไม่เคยเดียวดาย: มนุษย์ต่างเป็นเพื่อนร่วมประสบการณ์ความสูญเสีย Never alone: United in Grief and humanity
    เราทุกคนต่างเคยประสบความสูญเสียน้อยใหญ่ สิ่งที่ช่วยให้เราผ่านความโศกเศร้าและสูญเสียได้และมีวุฒิภาวะมากขึ้นคือการสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน วันดูแลแบบประคับประคองโลกปีนี้ขอเชิญชวนให้เราแบ่งปันเรื่องราวการดูแลความสูญเสียตามแนวทางชุมชนกรุณา เพื่อฟื้นคืนความหวังและการเยียวยา
  2. ให้เกียรติชีวิตและความโศกเศร้า ด้วยการลงทุนสนับสนุนการดูแลความสูญเสียโดยมีชุมชนเป็นฐาน Honoring life and grief through investment in community-based bereavement support
    การสนับสนุนผู้สูญเสียด้วยใจกรุณาจะช่วยฟื้นหัวใจความเป็นมนุษย์ ทั้งต่อผู้สูญเสียและผู้ให้ความช่วยเหลือ การดูแลแบบประคับประคองคือแนวทางดูแลที่ช่วยสนับสนุนผู้ป่วยให้ผ่านความโศกเศร้าและสูญเสีย มีส่วนช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาสุขภาพกายและจิต ทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว

สาระสำคัญ

  • ระบบสุขภาพและสังคมควรสนับสนุนให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าถึงฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคองในระบบบริการสุขภาพและในชุมชน
  • การดูแลแบบประคับประคองคือการดูแลที่เป็นองค์รวมสำหรับผู้ป่วยที่ถูกคุกคามชีวิตด้วยโรคที่รุนแรง รักษาให้หายขาดได้ยาก ตลอดจนผู้ป่วยระยะสุดท้าย จุดประสงค์ของการดูแลแบบประคับประคองคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว
  • แนวทางการดูแลแบบประคับประคองจะครอบคลุมการดูแลครอบครัว ผู้ดูแล ทั้งในระยะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิต ไปจนถึงการดูแลหลังสูญเสียด้วย
  • สถานการณ์โควิดนำมาซึ่งการสูญเสียขนาดใหญ่ ผู้ดูแล ครอบครัวจำนวนมากต่างสูญเสียคนรักอย่างกระทันหันโดยที่อาจยังไม่มีโอกาสบอกลา
  • จากการคาดการ การตายของคน 1 คน ส่งผลกระทบให้เกิดความรู้สึกสูญเสียโดยตรงกับคน 9 คน ดังนั้น ในสถานการณ์โควิด น่าจะมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียทั่วโลกกว่า 120 ล้านคน
  • ในจำนวนนี้ บุคลากรสุขภาพก็ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียเช่นกัน แต่พวกเขาก็ยังต้องให้บริการต่อไปโดยที่ยังไม่มีโอกาสดูแลความสูญเสียที่ผ่านมาเลย
  • การดูแลความสูญเสียโดยมีชุมชนเป็นฐาน คือรากฐานของชุมชนกรุณา แนวทางการพัฒนาระบบการดูแลความสูญเสีย คือการลงทุนบริการดูแลความสูญเสียและกิจกรรมเยียวยา ทั้งโดยนักวิชาชีพและชุมชน
  • การพัฒนาชุมชนกรุณา ช่วยเพิ่มความยึดโยงทางสังคม และป้องกันความโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมป้องกันความสูญเสียในระดับประชากร
  • การระบาดใหญ่ของโควิดส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มที่เข้าไม่ถึงการดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรการดูแลที่เพียงพอ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองน้อย

ประเด็นสำคัญในการรณรงค์เรียกร้องการดูแลความสูญเสีย

นโยบายระดับชาติ

  • ปฐมภูมิ สังคมควรให้ความรู้เกี่ยวกับความโศกเศร้าและสูญเสีย
  • ทุติยภูมิ ควรสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนดูแลความสูญเสีย (social support, group support) การให้คำปรึกษารายบุคคล
  • ตติยภูมิ ควรมีการจัดตั้งงานดูแลความสูญเสียที่ซับซ้อนเรื้อรัง การดูแลความสูญเสียในสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ

นโยบายระดับชุมชน

  • สถานที่ทำงาน ควรมีนโยบายอนุญาตให้พนักงานลาพักที่ยืดหยุ่นเพื่อดูแลความสูญเสีย การให้การอบรมแนวทางการดูแลความสูญเสียแก่พนักงาน
  • ชุมชนควรสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนสนับสนุนการดูแลความสูญเสีย
  • การเพิ่มการเข้าถึงบริการหรือโปรแกรมดูแลแบบประคับประคองในชุมชน

หากหน่วยงานสุขภาพหรือชุมชนใด ต้องการการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการจัดกิจกรรมรณรงค์วันดูแลแบบประคับประคองโลก 2022 สามารถปรึกษาการจัดกิจกรรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลความโศกเศร้าและสูญเสียได้ทาง inbox ของเพจ Peaceful Death หรือ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา

อ่านเครื่องมือการรณรงค์ World Hospice and Palliative Care Day 2022 ได้ที่ http://www.thewhpca.org/resources-2022

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา