ผู้เชื่อมต่อสุขภาพ Health Connector Mendip

ในประเทศอังกฤษ และอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ระบบสุขภาพภาครัฐจะครอบคลุมการดูแลความเจ็บป่วยของประชาชนทุกคน แต่ก็ยังมีผู้เผชิญความปัญหาสุขภาพทางกายและจิตจำนวนหนึ่งก็ยังคง “ไม่รู้” ช่องทางและวิธีการที่จะเข้าถึงการรับบริการสุขภาพในระบบ ทำให้พลาดโอกาสในการป้องกันส่งเสริมสุขภาพ และได้รับบริการตามสิทธิ์ที่พึงมี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่คนเดียว เป็นต้น

วิธีการแก้ปัญหาหนึ่งแบบชุมชนกรุณา คือการพัฒนา “ผู้เชื่อมต่อสุขภาพ” ในชุมชน ซึ่งจะช่วยเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนให้เพื่อนร่วมชุมชนเข้าถึงและรับบริการสุขภาพตามระบบสวัสดิการสังคมและสุขภาพที่มีอยู่

ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร สังคมไทยก็มีคนที่ทำหน้าที่นี้อยู่ ก็คือ อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม Health Connectors Medip ประเทศอังกฤษ เรียกคนทำหน้าที่เชื่อมต่อการดูแลสุขภาพว่า Health Connectors หรือผู้เชื่อมต่อสุขภาพ แนวคิดนี้อยู่ในข่ายความคิดเดียวกับงานสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care) ที่สนับสนุนการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ ช่วยให้ผู้เผชิญความเจ็บป่วยได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนผู้ต้องการความช่วยเหลือที่ตกสำรวจจากระบบสุขภาพ Health Connectors นี้แหละก็จะช่วยสอดส่องคัดกรองให้เขาได้รับการดูแลตามสมควร โปรแกรมนี้จึงช่วยให้ชุมชนมีทรัพยากรบุคคลช่วยดูแลส่งเสริมสุขภาพ โอกาสที่ผู้ต้องการเข้าถึงการดูแลสุขภาพย่อมมีมากขึ้น และเมื่อ Health Connectors ทำหน้าที่เชื่อมต่อการดูแลในประเด็นการดูแลความตาย และความสูญเสีย โปรแกรมนี้จึงอยู่ในขอบข่ายชุมชนกรุณาด้วย

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโปรแกรม Helath Connectors Mendip ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งติดตัวเป็นอาสาสมัครประจำชุมชนเท่านั้น โอกาสการเข้าร่วมปฏิบัติการชุมชนกรุณาในโปรแกรมนี้มีหลากหลายช่องทาง เช่น 

1. เป็นผู้กระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ (Simple Signposting) คือทำหน้าที่เป็น “ป้ายบอกทาง” หรือแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ต้องการทราบข้อมูลสุขภาพในชุมชน  ผู้สนใจเป็น Signposting สามารถเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับข้อมูลที่ควรรู้จากโปรแกรมนี้ และจะได้รับทะเบียนรายชื่อผู้ให้บริการสุขภาพทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรอง เบอร์โทรให้คำปรึกษาด้านสุขภาพที่จำเป็น ลิงค์ Social Media หรืออีเมลติดต่อ หากท่านเป็นเจ้าของร้านกาแฟ ก็สมัครเป็นจุดให้บริการข่าวสารได้เช่นกัน

2. เป็นอาสาสมัครสนับสนุนผู้ป่วย ผู้ดูแล หรือครอบครัวแบบ One to One ผู้ให้บริการอาจช่วยวางแผนดูแลล่วงหน้า ร่วมหาเป้าหมายการดูลแสุขภาพ แนะนำวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น อาสาจะสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลการดูและสุขภาพเบื้องต้นของผู้รับบริการ และส่งต่อการดูแลให้แพทย์ประจำบ้านต่อไป

3. ร่วมทำกลุ่มสนับสนุน (Group Support) เช่น การนำสนทนาประเด็นสุขภาพหรือการบำบัด การออกกำลังกาย การรวมกลุ่มเดินด้วยกัน การจัดกลุ่มให้คำปรึกษา และการระดมความคิดในการพัฒนาชุมชน

4. รวมกลุ่มกันมาจัดตั้งทีมพัฒนาชุมชน (Community Development) จะมีเจ้าหน้าที่ของโปรแกรม มาช่วยออกแบบ แนะนำวิธีจัดตั้งกลุ่มดูแลบริหารดูแลสุขภาพของตนเองได้ ทีมเหล่าน้ีมักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรคที่มีประสบการณ์ร่วมกัน เช่น กลุ่มผู้ป่วยและผู้ดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มดูแลความสูญเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมเชิงสังสรรค์ เพราะการเชื่อมต่อสุขภาพไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในงานประชุมเป็นการเป็นงานเท่านั้น การเชื่อมต่อที่ไม่เป็นทางการยังเกิดขึ้นเมื่อเราสังสรรค์งานเลี้ยง จัดปาร์ตี้ โปรแกรม Health Connector Mendip จึงมีการจัดประชุมที่ไม่เป็นทางการ เพื่อให้สมาชิกในชุมชน Health Connectors อาสาสมัคร แพทย์ทั่วไป แพทย์ทางเลือก นักกิจกรรม นักสังคม ฯลฯ มาเจอกันในงานประชุมสังสรรค์ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือให้เหนียวแน่น ราบรื่น ไร้รอยต่อ

แนวคิดการพัฒนาจุดเชื่อมต่อสุขภาพ พบในโปรแกรมพัฒนาระบบอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของงานชุมชนกรุณาหลายประเทศ และเป็นหัวข้อการอบรมอาสาสมัครหัวข้อหนึ่งที่เป็นที่นิยม เพราะเมื่อสมาชิกในชุมชนพบผู้ป่วยแล้ว ย่อมต้องการความรู้เกี่ยวกับการส่งต่อและเชื่อมโยงการดูแลช่วยเหลือในระบบสุขภาพ หรือบริการสังคมที่ไว้วางใจได้ ซึ่งทำให้งานอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยไม่หนักหนาเกินไปนัก

ประโยชน์อีกทางหนึ่งของโปรแกรมนี้ คือ การสร้างความตระหนักรู้ของบรรดาผู้เข้ามามีส่วนร่วมในโปรแกรม ซึ่งจะช่วยให้อาสาและคนใกล้ชิดของอาสามีหลักประกันว่า พวกเขามีความรู้ที่ครบถ้วน มีแหล่งช่วยเหลือที่ไว้วางใจได้ มีแนวโน้มพฤติกรรมส่งเสริมป้องกันสุขภาพตนเอง และเมื่อต้องการพึ่งพาบริการดูแลสุขภาพ พวกเขาจะรู้วิธีเข้าถึงระบบบริการอย่างเท่าทันและมีความเห็นอกเห็นใจ

ในประเทศอังกฤษเรียก Health Connectors บางประเทศอาจเรียกว่า Community Connectors ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน อยู่ที่จะเน้นอะไรเป็นจุดหลัก

ผมชอบแนวคิด Health Connector ที่มีประเภทและความเข้มข้นของโปรแกรมที่หลากหลาย ไม่จำกัดตำแหน่ง แต่ใครที่อยากมีส่วนร่วมส่งเสริมสุขภาพก็เข้ามาร่วมได้ทั้งหมด ซึ่งตรงกับหลักการ Inclusive รวมทุกคนไว้ในการส่งเสริมป้องกัน ไม่กีดกัน หลักการมีส่วนร่วม หลักการเคารพความเป็นพลเมือง และร่วมกันรับผิดชอบสุขภาพของตนเอง

ท่านที่สนใจศึกษาโปรแกรม Health Connectors Medip เชิญชมเว็บต้นทางได้ที่ https://healthconnectionsmendip.org

เรียบเรียง เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
เขียนเมื่อ 2022-3-25
เผยแพร่ครั้งแรก FB มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา