เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
28 กุมภาพันธ์ 2565
ช่วงนี้ผมได้เรียนรู้ตัวอย่างการทำงานชุมชนกรุณาทั้งในและต่างประเทศ ค่อยๆ เห็นกรอบคิดกรอบหนึ่งที่ปรากฏบ่อยๆ ในกิจกรรม แผนงาน โครงการพัฒนาความเข้มแข็งของบุคคลและชุมชนในการรับมือในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านหรือชุมชน นั่นคือ Circles of Care (วงล้อมแห่งการดูแล)
ในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วกำลังเผชิญภาวะสังคมสูงวัยรุนแรง เกิดปัญหาขาดแคลนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะท้าย ความขาดแคลนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมากทั้งทางกายและใจ ผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายอาจจะยังพอจ่ายเงินซื้อบริการบ้านพักผู้สูงอายุหรือโรงพยาบาลได้ ส่วนผู้ไม่มีกำลังจ่ายก็ต้องทนทุกข์
ศ. จูเลียน อาเบล (Julian Abel) และคณะ (2013) เสนอว่าภาวะดังกล่าวเป็นทั้งวิกฤตของผู้ป่วยระยะท้าย ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสพลิกฟื้นภูมิปัญญาในการดูแลการตายและความสูญเสียของชุมชน การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้อยู่และตายดีในชุมชนไม่ใช่สิ่งใหม่ หากเป็นสิ่งสามัญที่เคยดำรงอยู่มาก่อนที่การแพทย์สมัยใหม่จะเกิดขึ้น ความทุกข์ของเพื่อนที่กำลังสบตากับความตาย เรียกร้องให้สมาชิกหันมาดูแลใส่ใจกันและกัน ผลลัพธ์จากการสร้างวงล้อมที่โอบอุ้มการดูแลไม่เพียงช่วยให้เพื่อนของเราจากไปอย่างสงบเท่านั้น แต่ยังทำให้เรามั่นใจในการดูแลความทุกข์จากความเจ็บป่วย การตาย และความสูญเสียของตัวเราและคนที่เรารักอีกด้วย
ส่วนจะทำอย่างไรนั้น อาเบล เสนอโมเดลในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนกรุณาที่ชื่อว่า วงล้อมแห่งการดูแล (Circles of Care)
กรอบคิดของ Cilcles of Care นั้นเรียบง่าย เปรียบวงล้อมการดูแลเป็นวงกลมที่โอบกันเป็นชั้น มีจุดศูนย์กลางคือ ผู้เผชิญความทุกข์ ซึ่งในที่นี้คือ ผู้เผชิญความเจ็บป่วยร้ายแรง (Person with serious illness) คือใจกลางของการดูแล โดยมีองคาพยพอื่นๆ โอบดูแลเป็นชั้นๆ
ชั้นในสุดคือ เครือข่ายดูแลวงใน (Inner Network) เป็นผู้ดูแลที่ให้เวลาดูแลเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้ดูแลใกล้ชิด เราอาจเรียกว่าผู้ดูแลมือหนึ่งก็ได้ เขาจะทำหน้าที่ดูแลที่เข้มเข้น เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การกินอาหาร กินยา เฝ้าไข้ ตัดสินใจแทน สื่อสารกับบุคลากรสุขภาพ เป็นต้น ในสังคมไทย เครือข่ายดูแลวงในมักเป็นสมาชิกในครอบครัว เช่น ลูก ภรรยาสามี แต่เครือข่ายดูแลวงในอาจจะไม่ใช่ครอบครัวทางสายเลือดก็ได้ อาจจะเป็นคนรัก เพื่อนสนิท ผู้ดูแลรับจ้างที่ดูแลใกล้ชิด หรือพนักงานในสถานดูแลผู้สูงอายุที่ให้การดูแลใกล้ชิด ใครที่ให้การดูแลเข้มข้นถือว่าเป็นเครือข่ายดูแลวงในทั้งสิ้น
ชั้นต่อมาคือ เครือข่ายดูแลวงนอก (Outer Network) จะเรียกว่าผู้ดูแลมือสองก็ได้ เป็นคนที่ดูแลห่างออกมาหน่อย ทำกิจกรรมดูแลผู้ป่วยเข้มข้นน้อยกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า แต่มักมีบทบาทสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลวงในอีกทีหนึ่ง เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกิน ความสะอาดของบ้านหรือสถานดูแล การสนับสนุนด้านการเงิน การดูแลเรื่องการเคลื่อนย้าย การผลัดเปลี่ยนมาดูแลชั่วคราว การพูดคุยให้กำลังใจ การดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เครือข่ายดูแลวงนอกนี้มักเป็นเพื่อน ญาติ ของผู้ป่วยหรือผู้ดูแลวงใน การดูแลของเครือข่ายวงนอกแม้ดูแลเข้มข้นน้อยกว่า แต่การดูแลเล็กๆน้อยๆ นี่แหละ ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้ดูแลวงใน
ชั้นต่อมาคือ ชุมชน (Communities) ซึ่งหมายถึง กลุ่ม องค์กร หน่วยงานในชุมชนที่มีลักษณะเป็นทางการมากขึ้น ทำหน้าที่ให้บริการดูแลตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เช่น อาสาสมัคร อสม. อผส. ที่มาดูแลผู้ป่วยตามรอบการดูแล ชุมชนยังหมายถึงหน่วยให้บริการชุมชนทั้งจากภาครัฐ เช่น หน่วยงานสวัสดิการสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น นักการเมืองที่ประสานการดูแล หน่วยกู้ภัย รวมทั้งองค์กรธุรกิจที่ให้บริการด้านสุขภาพ เช่น ร้านขายยา บ้านพักผู้สูงอายุเอกชน ร้านขายโลงศพ วัดประกอบฌาปนกิจ รวมทั้งองค์กรการกุศลหรือภาคประชาสังคมที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพ เช่น มูลนิธิร่วมกตัญญู ปอเต๊กตึ๊ง หน่วยงานอาสาสมัคร กลุ่มให้คำปรึกษา กลุ่ม Self Help Group ผู้นำจิตวิญญาณและศาสนา เป็นต้น
ชั้นต่อมา คือ ระบบบริการสุขภาพ (Service Delivery) คือบริการสุขภาพจากนักวิชาชีพสุขภาพตามสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน เช่น เครือข่ายโรงพยาบาลของรัฐระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะให้บริการโดยนักดูแลสุขภาพวิชาชีพ
วงล้อมชั้นนอกสุดคือ นโยบาย (Policy) คือ ระเบียบ นโยบาย กฎหมาย ขององค์กร ที่ทำงาน รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลระดับชาติ ที่เอื้อให้ระบบบริการสุขภาพและระบบชุมชนมีส่วนช่วยดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ปัจจุบัน หลายครอบครัวอาจเข้าใจว่า เมื่อเราประสบความเจ็บป่วยคุกคามชีวิต ภารกิจสำคัญมีเพียงการส่งให้ผู้ป่วยเข้ารับการดูแลจากระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาล ก็ถือว่าจบงาน ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะมาดูแลต่อจนผู้ป่วยเสียชีวิต ความคาดหวังนี้ยากจะเป็นจริงในระบบสุขภาพปัจจุบันเพราะ 1. ผู้ป่วยจำนวนมากต้องการใช้เวลาช่วงท้ายที่บ้าน 2. ทรัพยากรการดูแลผู้ป่วยช่วงท้ายที่โรงพยาบาลไม่เพียงพอ 3. การดูแลโดยนักวิชาชีพในสถานดูแลผู้สูงอายุมีต้นทุนสูง มีเพียงบางครอบครัวเท่านั้นที่มีความสามารถในการจ่าย
อาเบลและคณะจึงเสนอว่า แทนที่จะพึ่งพาการดูแลโดยบริการสุขภาพเท่านั้น ควรหันมาฟื้นความเข้มแข็งของเครือข่ายการดูแลภาคชุมชน ทั้งเครือข่ายการดูแลวงใน วงนอก และชุมชน ให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย มีการเชื่อมประสานงานส่งต่อทั้งขณะที่ผู้ป่วยป่วยระยะท้าย และเครือข่ายดูแลที่ทำงานเชิงส่งเสริมป้องกันด้วย
วิธีการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคชุมชนนั้น คือการถามกันและกันว่า ผู้ป่วยต้องการอะไร ใครในเครือข่ายวงในตอบสนองได้บ้าง ถ้าวงแรกตอบสนองไม่ได้ ก็ถามวงถัดมาว่าใครจะดูแลความต้องการของผู้ป่วยได้บ้าง ถามเช่นนี้เป็นชั้นๆ และถ้าไม่มีใครตอบได้เลยก็ถึงเวลาที่ต้องพัฒนากิจกรรม แผนงาน โครงการที่จะมาตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย
การพัฒนาชุมชนกรุณาก็คือการพัฒนาวงล้อมการดูแลชั้นต่างๆ ให้มีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการผู้ป่วยและองคาพยพที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงควรส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ทักษะเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยให้มากที่สุดในระดับประชากร (เราจะได้มีเครือข่ายดูแลในชุมชนที่เข้มแข็ง) หากเกินมือจึงปรึกษาส่งต่อให้บริการสุขภาพดูแลความทุกข์ที่ซับซ้อนและต้องใช้ความเชี่ยวชาญในระดับมืออาชีพเข้ามาช่วย ผู้ให้บริการสุขภาพจะได้ทำหน้าที่ของเขาตามความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้เรียนมา
ส่วนชุมชนก็จะได้ฟื้นภูมิปัญญา ฟื้นความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถดูแล และผ่านพ้นความทุกข์จากความเจ็บป่วยระยะสุดท้ายได้ด้วยความช่วยเหลือของกันและกัน และการจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
จาก Abel, J. และคณะ (2013)
เอกสารอ้างอิง
Abel, J., Walter, T., Carey, L. B., Rosenberg, J., Noonan, K., Horsfall, D., Leonard, R., Rumbold, B., & Morris, D. (2013). Circles of care: should community development redefine the practice of palliative care? BMJ Supportive & Palliative Care, 3(4), 383. https://doi.org/10.1136/bmjspcare-2012-000359
#ชุมชนกรุณา #compassionatecommunities #ชุมชนกรุณาศึกษา #cocofoundationthailand #PHPC