Aoun, S. M. และคณะ ทำงานเกาะติดประเด็นการดูแลใจผู้สูญเสีย (Bereavement Care) หลากหลายแง่มุม งานศึกษาเชิงคุณภาพชิ้นนี้ตั้งคำถามว่า เมื่อถึงเมื่อใครคนหนึ่งสูญเสียคนรักไป พวกเขามีวิธีแสวงหาความช่วยเหลือจากเครือข่ายสังคมของเขาอย่างไร ศึกษาด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง จากผู้สูญเสียจำนวน 20 คน ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือน โดยใช้กรอบแนวคิด Goodness of Fit Network มาเป็นโครงสร้างการสัมภาษณ์ คือถามว่า ในรอบความสูญเสียที่ผ่านมา ผู้สูญเสียคิดอย่างไรกับ แหล่งช่วยเหลือ (source) ปริมาณการช่วยเหลือ (amount) เวลา (timing) หน้าที่ (function) และ โครงสร้าง (structure) ของการช่วยเหลือ
ข้อค้นพบที่น่าสนใจมีดังนี้
เกี่ยวกับแหล่งความช่วยเหลือในการดูแลความสูญเสีย
ผู้สูญเสียรับแหล่งช่วงเหลือทั้งจากภาคางการ (แพทย์ นักบำบัด นักจิตวิทยา นักบวช) และไม่เป็นทางการ เช่น ครอบครัว เพื่อน กลุ่มงานอดิเรก อาสาสมัคร self help group ที่น่าสนใจคือ ผู้สูญเสียบางคนไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ (พอใจที่จะย่อยประสบการณ์ความสูญเสียเพียงลำพัง) แต่กลับได้รับความช่วยเหลือที่มากเกินไป ขณะที่ผู้สูญเสียอีกหลายคนต้องการความช่วยเหลือแต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ บางคนได้รับความช่วยเหลือทั้งสองแหล่ง ซึ่งเป็นเรื่องดี ทั้งนี้ ผู้ได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งที่เป็นทางการ มักจะเข้าถึงความช่วยเหลือที่ไม่เป็นทางการด้วย โจทย์ของชุมชนกรุณาคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูญเสียมีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายความช่วยเหลือได้มากขึ้น ง่ายขึ้น เช่น การสร้างความรู้เท่าทันความตายและความสูญเสีย (death and grief literacy) ในประชากรกลุ่มใหญ่ เพราะงานนี้พบว่า เมื่อผู้สูญเสียต้องการความช่วยเหลือ เขาจะหาแหล่งความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว (ส่วนใหญ่คือครอบครัวและเพื่อน) ทั้งยังต้องฝึกให้ผู้ให้ความช่วยเหลือเสนอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และควรเสนอความช่วยเหลือมากกว่า 1 ครั้ง และยังพบว่าผู้สูญเสียน้อยคนที่จะหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือที่น่าประทับใจนัก
แหล่งให้ความช่วยเหลือที่น่าสนใจอีกแหล่งคือผู้จัดงานศพ ที่ให้เบอร์โทรและข้อแนะนำเกี่ยวกับการแสวงหาแหล่งช่วยเหลือแหล่งต่างๆ ผู้สูญเสียสะท้อนว่า ผู้จัดงานศพให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ในจุดนี้เองที่ทำให้ทีมวิจัยเห็นบทบาทของบริษัทจัดงานศพว่าอาจมีส่วนสำคัญในงานชุมชนกรุณา
ปริมาณการช่วยเหลือ
ปริมาณการช่วยเหลือก็เป็นเรื่องสำคัญ มีคนที่ได้รับความช่วยเหลือมากเกินไปจนรู้สึกถูกรบกวน มีผู้สูญเสียที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเลยจากใครเลยแม้แต่ญาติพี่น้อง และผู้ที่รู้สึกพึงพอใจมากกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่มีทักษะในการให้ความช่วยเหลือ เช่น การรับฟังความรู้สึกโดยไม่แสดงท่าทีรังเกียจ เบื่อ หรือชวนเปลี่ยนหัวข้อสนทนา การให้พื้นที่ปลอดภัย การมาช่วยสนับสนุนการกินอยู่ การให้กำลังใจ การทำให้ตารางกิจวัตรประจำวันยังคงเดิม (ช่วยปลุก ช่วยทำอาหาร ช่วยพาไปเดินเล่น) ปริมาณความช่วยเหลือที่เหมาะสมคือเพียงใดนั้น ผู้ให้ความช่วยเหลือควรหมั่นสอบถามและสังเกตจากปฏิกิริยาของผู้สูญเสีย
เกี่ยวกับระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ
ระยะเวลาความช่วยเหลือที่ผู้สูญเสียต้องการนั้นมีความหลากหลาย โดยทั่วไป ผู้สูญเสียจะรู้สึกสูญเสียตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยเสียชีวิต การเตรียมการดูแล การให้เวลาดูแล การที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลแแบบประคับประคอง มีส่วนช่วยลดความรุนแรงของความรู้สึกสูญเสีย ผู้สูญเสียที่ผู้จากไปได้รับการดูแลที่มีคุณภาพจึงมักประสบความสูญเสียที่ไม่รุนแรงนัก และไม่ต้องการการเฝ้าติดตามดูแลความสูญเสียมากนัก และสามารถฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้ภายใน 2-6 สัปดาห์ ในขณะที่ผู้สูญเสียจำนวนมากฟื้นฟูความสูญเสียได้ภายในครึ่งปี มีเพียงน้อยคนที่ต้องการการดูแลที่ยาวนานกว่านั้น การติดตามเฝ้าระวังแบบมาตรฐานเดียวจึงไม่เป็นประโยชน์มากนัก
ผู้ให้ข้อมูลยังสะท้อนว่า ระยะเวลาที่ควรมีใครสักคนมารับฟัง อาจต้องปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปสัก 1 เดือนก่อน จึงจะเรียบเรียงและพร้อมที่จะพูดถึงความสูญเสีย ในขณะที่บางคนบอกว่าในช่วงเวลาสูญเสียใหม่ๆ ถ้ามีใครสักคนมารับฟังก็คงจะดี ดังนั้น ความต้องการการดูแลของผู้สูญเสียแตกต่างกันไป จึงควรฝึกอบรมให้คนทุกคนมีทักษะในการดูและความสูญเสีย
Function ของการดูแลความสูญเสีย
ประเมินความสูญเสีย จับสัญญาณความต้องการการดูแล ทักษะในการเสนอความช่วยเหลือ ทักษะในการรับฟัง ทักษะในการสื่อสารให้กำลังใจ ทักษะในการยอมรับความสับสนทางอารมณ์ของผู้สูญเสีย ทักษะในการสนับสนุนทางอ้อมสำหรับผู้สูญเสีย เช่น การดูแลกิจวัตรประจำวัน การเชื่อมโยงความช่วยเหลือกับผู้เชี่ยวชาญและแหล่งความช่วยเหลือที่เป็นทางการ การแนะนำให้ผู้สูญเสียได้คุยกับผู้เคยผ่านประสบการณ์ความสูญเสียในลักษณะเดียวกันมาก่อน
โครงสร้างความช่วยเหลือ
โครงสร้างความช่วยเหลือผู้สูญเสียที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีกับกลุ่มสนับสนุนกลุ่มต่างๆ เช่น ครอบครัวที่มีสมาชิกที่มีทักษะในการดูแลใจ การมีกลุ่มงานอดิเรกที่ทุกนพร้อมจะมาสนับสนุน สถานที่ทำงานที่บุคลากรเข้าใจความสูญเสียและเสนอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการให้หยุดงาน การมีกลุ่มเพื่อนที่ไว้วางใจได้มาสอบถามว่าจะสนับสนุนผู้สูญเสียอย่างไรได้บ้าง ขณะที่ผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็เป็นโครงสร้างหนึ่งที่มีไว้บริการผู้สูญเสียเช่นเดียวกัน โครงสร้างความช่วยเหลือที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตประจำวัน ข้อค้นพบหนึ่งเกี่ยวกับการทำกลุ่มดูแลความสูญเสียคือ แม้งานดูแลความสูญเสียโดย self help group จะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งแรกๆ ที่ผู้สูญเสียจะมองหา และรู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากกลุ่มอาสาหรือผู้เชี่ยวชาญ ความช่วยเหลืออันดับแรกที่ผู้สูญเสียจะมองหาและรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุน ก็คือเครือข่ายสังคมที่ไม่เป็นทางการ แต่มีทักษะในการดูแลความสูญเสีย
โจทย์ของชุมชนกรุณาคือ จะทำอย่างไรให้ประชากรกลุ่มใหญ่มี grief literacy มีความพร้อมและสามารถเสนอความช่วยเหลือในการดูแลใจครอบครัว เพื่อน และสมาชิกในชุมชนที่ประสบความสูญเสีย หากเขามีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เราจะเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลความสูญเสียนี้ได้อย่างไร และถ้าผู้สูญเสียยังไม่มีเครือข่ายสังคม เราจะเริ่มสร้าง หรือเชื่อมต่อ (Connect) เครือข่ายสังคมที่สามารถดูแลใจผู้สูญเสียได้อย่างไร
อ้างอิง
Aoun, S. M., Breen, L. J., Rumbold, B., Christian, K. M., Same, A., & Abel, J. (2019). Matching response to need: What makes social networks fit for providing bereavement support? [Article]. PLOS ONE, 14(3), Article e0213367. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0213367