ความตายวาดได้ ศิลปะสู่พื้นที่เรียนรู้ความตาย || ชุมชนกรุณาศึกษา

ปฏิบัติการชุมชนกรุณา เชิญทุกคนเข้ามามีบทบาทสร้างพื้นที่เรียนรู้ความเจ็บป่วย ความตาย การดูแล และความสูญเสีย ตามความถนัด ความสนใจ บทบาทของตนเองที่เป็นอยู่ ดังเช่นการทำงานของแอนโทเนีย โรลส์ (Antonia Rolls) ศิลปินหญิงผู้วาดการตายและจัดแสดงงานศิลปะ

แอนโทเนีย เป็นศิลปินวาดภาพบุคคล เธอกล่าวว่าเธอไม่รู้ว่าความตายเป็นอย่างไร จนกระทั่ง ปี 2007 สตีฟ สามีของเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เธอตระหนักถึงความตายว่าเป็นความจริง

เธอไม่เคยเตรียมใจรับความพลัดพรากเช่นนี้มาก่อน ประสบการณ์การดูแล การตาย และความสูญเสียเป็นประสบการณ์ใหม่ สิ่งหนึ่งที่แอนโทเนียใช้เป็นเครื่องมือในการอยู่กับสภาวะที่ปั่นป่วนนี้ คือการวาดภาพสามีของเธอที่กำลังเสื่อมถอยและกำลังจะตาย เพราะเธอคิดว่า อาจมีคนอื่นๆ ที่อยากรู้จักสภาวะของการเผชิญความตายเช่นนี้เพื่อเตรียมใจ และภาพวาดบุคคลแบบสมจริงที่แสดงอาการใกล้ตายของสตีฟ น่าจะทำให้คนอื่นๆ ได้ทำความรู้จักความตายมากขึ้น และทำให้เรื่องนี้ปรากฏในชีวิตประจำวันของผู้คน

เธอวาดภาพเหมือนของสตีฟทั้งส่วนที่เป็นกายภาพ (เช่น ความร่วงโรย กล้ามเนื้อที่ค่อยๆ เสื่อมลง กระดูกที่เห็นชัดขึ้น) และส่วนที่เป็นอารมณ์ที่สะท้อนบนใบหน้า รวมทั้งสีหรือสัญลักษณ์ที่แสดงอารมณ์ขัน หรือความโศกเศร้า ที่เธอสัมผัสได้ในช่วงนั้นๆ

ในวันที่สตีฟเสียชีวิต แอนโทเนียยังวาดการตายของเขาไว้ด้วย เธอยังบันทึกแง่มุมความงดงามของความป่วยและความตายที่เธอเห็นลงในภาพ นั่นทำให้ผลงานของเธอเป็นบันทึกชั่วขณะแห่งการอยู่ด้วยกันกับความเจ็บป่วย การตาย ระหว่างศิลปิน ผู้ป่วย และผู้ดูแล
หลังจากสตีฟจากไป แอนโทเนียจัดแสดงผลงานของเธอในบ้าน มีผู้ป่วยเข้ามาเยี่ยมชมและขอให้แอนโทเนียวาดพวกเขาด้วยเทคนิคเดียวกัน เธอจึงได้เดินทางไปวาดภาพผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน โรงพยาบาล หรือฮอซพิซ และใช้เวลาร่วมกัน ระหว่างนั้นแอนโทเนียร่างภาพ ถ่ายรูป สัมภาษณ์ผู้ป่วยถึงคำถามสำคัญกับผู้ป่วย เช่น “คุณคือใคร” “คุณอยากบอกอะไร” จากนั้นมาผลิตงานให้เสร็จในสตูดิโอ

เมื่อได้ผลงานครบ 54 ชิ้น เธอจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ A Graceful Death exhibition ซึ่งผู้เข้าชมจะได้ชมภาพวาดสะท้อนชั่วขณะแห่งการเผชิญความตายของผู้ป่วยและผู้ดูแล บ่อยครั้งที่ผู้เข้าชมจะเล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในครอบครัวของเขา หรือแสดงความโศกเศร้าอาลัยออกมา นิทรรศการนี้จึงทำหน้าที่นอกเหนือไปจากงานแสดงศิลปะในเชิงความงาม แต่ยังสื่อสารว่าความตายนั้นเกิดขึ้นจริง นอกเหนือจากความเศร้าแล้ว ความตายมีแง่มุมความงดงามจากความรักที่คนรอบข้างมีให้กับผู้ป่วย จากปัญญาของผู้ใกล้ตาย จากความเบิกบานและอารมณ์ขันของพวกเขา

นิทรรศการยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ จัดกิจกรรมสนทนาเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การดูแลความสูญเสีย บ่อยครั้งมีนักบำบัดและให้คำปรึกษามารับฟังผู้ชมที่ต้องการดูแลความสูญเสียด้วย

ประสบการณ์วาดภาพและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่หลากหลายของแอนโทเนีย ทำให้เธอตระหนักถึงทักษะการดูแลใจผู้ป่วยว่าสามารถทำได้หลากหลาย เช่น การพูดคุยและรับฟัง การนั่งเป็นเพื่อนผู้ป่วยเฉยๆ การสัมผัส การร้องเพลง ใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน เหล่านี้คือสิ่งง่ายๆ ที่คนรอบข้างสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้ แอนโทเนียจึงเป็นทั้งศิลปิน กระบวนกรที่เอื้อเฟื้อพื้นที่เรียนรู้ความตาย รวมทั้งให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ผู้ดูแล และผู้ชมนิทรรศการของเธอ

ในภาพรวม A Graceful Death exhibition คือปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่ทำให้ความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและโลกศิลปะ
ปัจจุบันแอนโทเนียต่อยอดแนวทางศิลปะเช่นนี้ไปสู่การวาดภาพเหมือนผู้เสพติดและคนรักของพวกเขา (Addicts And Those Who Love Them exhibition) เพื่อสื่อสารประเด็นการเสพติดและการดูแลสนับสนุนโดยคนรอบข้าง ซึ่งก็อยู่ในขอบขายการสร้างวัฒนธรรมกรุณาเช่นเดียวกัน

เรื่องเล่าจาก
Rolls, A. (2015). The “A Graceful Death exhibition”: Portraits and words from the end of life [Article]. Social Sciences, 4(3), 598-611. https://doi.org/10.3390/socsci4030598

ภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/694902550/posts/10152437869687551/

เขียนโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ FB มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา
วันที่ 2022-3-30

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา