ระบบความตาย (1): ศาสนาปรัชญา และประวัติศาสตร์ของระบบความตาย

บันทึกการสนทนาเรียนรู้ระบบความตาย กิจกรรม PHPC Group Read วันที่ 12 ส.ค. 2567 ส่วนที่ 3-5

ระบบความตาย ฐานปรัชญาและศาสนาของระบบความตาย และต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของระบบความตาย

ระบบความตาย เป็นประเด็นหลักที่คณะกรรมการ Lancet ศึกษาประเด็นคุณค่าของความตาย ตีพิมพ์รายงานในปี 2022 ที่ผ่านมา [อ่านรายงานได้ที่นี่] และศึกษาที่เว็บไซต์ของรายงานได้ที่ valueofdeath.org

ระบบความตาย คือแนวคิดที่คณะวิจัยหลากหลายสาขากลุ่มการสาธารณสุขการดูแลแบบประคับประคอง ร่วมกันเสนอว่า การจะทำความเข้าใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตช่วงท้าย การตาย และความสูญเสีย จำเป็นต้องเข้าใจเครือข่ายและกระแสเหตุปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อการดูแล

ระบบความตาย หมายถึงเครือข่ายระหว่างบุคคล กายภาพ สังคม และสัญลักษณ์ ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหวางมนุษย์กับความตาย ระบบความตายนั่นเองที่กำหนดว่าความตายและการตายจะถูกเข้าใจ ควบคุม และจัดการอย่างไร กำหนดว่าคนๆ หนึ่งจะตายที่ไหน จะตายอย่างไร ครอบครัวต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ศพจะถูกจัดการอย่างไร ผู้คนจะแสดงความโศกเศร้าอาลัยอย่างไร และความตายมีความหมายอย่างไรในสัคมและชุมชน ระบบความตายก็เหมือนระบบอื่นๆ คือเปลี่ยนแปลงได้โดยสังคม วัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ และการเมือง

ส่วนประกอบในระบบความตาย

วิธีทำความเข้าใจระบบความตาย คือการมองหาตัวละคร สถานที่ สิ่งของ สัญลักษณ์ ที่เกี่ยวกับความตายต่อไปนี้

คน: แพทย์ พยาบาล สัปเหร่อ ทหาร แพทย์ชันสูตรศพ ตัวแทนประกันชีวิต ทนายความตาย พระ ผู้นำศาสนา ฯลฯ
สถานที่: โรงพยาบาล โรงเก็บศพ อนุสรณ์ สถานที่ฝังศพ เมรุ สนามรบ
เวลา: วันสำคัญทางศาสนา วันครบรอบการตาย การไว้อาลัยต่อบุคคลที่จากไป วันประเพณีที่เกี่ยวกับการตายหรือการรวมญาติ
วัตถุ: โลงศพ โกศ กองฟืนเผาศพ กระดูก ข่าวมรณกรรม หนังสืองานศพ แท่นประหารชีวิต
สัญลักษณ์: สัญลักษณ์แทนความตาย รูปเทพเจ้า ภาษาและคำที่สื่อถึงความตาย สี

หน้าที่ของระบบความตาย

  • การเตือนและการคาดการณ์ความตาย เช่น การเตือนภัยพิบัติหรือภัยทางสาธารณสุข การคาดการณ์สภาพอากาศ
  • การป้องกันความตาย เช่น กฎระเบียบข้อห้ามไม่ให้มนุษย์เสี่ยงต่อการตาย การวิจัยทางการแพทย์ การวิจัยวัคซีน โปรแกรมคัดกรองโรค
  • การดูแลผู้คนที่กำลังตาย เช่น ผู้ดูแลคนในครอบครัว การรักษาพยาบาล บ้านพักผู้สูงอายุ หน่วยดูแลแบบประคัปบะรคอง การวางแผนดูแลล่วงหน้า การทำพิธีกรรมให้ผู้วายชนม์ การใช้มอร์ฟีน
  • การจัดการศพอย่างปลอดภัย และดูแลใจผู้ยังอยู่
  • การปรับตัวหลังการสูญเสีย เช่น การสนับสนุนครอบครัว การลาหยุด การลาหยุดงานในช่วงที่โศกเศร้า การให้บริการคำปรึกษาหรือกลุ่มสนับสนุน
  • การหาความหมายของความตาย เช่น คำอธิบายชีวิตและความตายทางศาสนา ปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตและความตาย
  • การฆ่า เช่น บรรทัดฐานสังคมที่เกี่ยวกับการฆ่า ประหาร การช่วยให้ตาย การุณยฆาต

แผนที่ระบบความตาย

ภาพด้านล่าง คือแผนที่ระบบความตายที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างระบบย่อยต่างๆ ที่มีผลต่อความคิดเกี่ยวกับการตาย การรับมือความตาย การดูแลการตาย ลูกศรต่างสีสะท้อนถึงระบบย่อยที่แตกต่าง แต่เชื่อมโยงกัน เช่น ระบบชุมชน ระบบบริการสุขภาพ ระบบกฎหมาย ระบบวิถีชีวิตส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับชีวิตและความตาย (ดูแผนที่ขนาดใหญ่ได้ที่เว็บไซต์ valueofdeath.org)

ในแผนที่จะเห็นแนวโน้มบางประการในสังคมสมัยใหม่ เช่น

  • การตายในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่การตายที่บ้านลดลง ทำให้ผู้คนสัมผัสประสบการณ์ดูแลการตายลดลง ไม่มั่นใจที่จะดูแลการตายเองที่บ้าน และต้องพึ่งพาบริการสุขภาพในการดูแลการตายมากขึ้น
  • การเข้ามาของประเด็นทางกฎหมาย (การฟ้องร้อง ร้องเรียน แนวปฏิบัติทางการแพทย์) และการเงินที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้การตายเป็นเรื่องทางการและบริการสุขภาพของผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น
  • คุณภาพการตาย เชื่อมโยงกับการทบทวนใคร่ครวญชีวิต การมีเป้าหมายชีวิต การจัดงานศพและการรำลึก ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในชุมชน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย

ศาสนาและปรัชญากับระบบความตาย

ในวงเสวนาพูดกันเรื่องปรัชญาและศาสนาที่ส่งผลต่อการดูแลการตายในระดับปฏิบัติ (ไม่ใช่วิธีคิดเท่านั้น) ความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาในกลุ่มชุมชนที่เคร่งครัด ส่งผลต่อการเลือกสถานที่รักษาและสถานที่ตาย ชาวมุสลิมเฝ้ารอความตายและอาจล้มเลิกการรักษา (ที่หายได้) เร็วเกินไป

หลายแนวคิดทางปรัชญาและคำสอนทางศาสนา มีมุมมองต่อความตายในเชิงบวก เช่น หากไม่มีความตาย ทุกการเกิดก็จะกลายเป็นโศกนาฏกรรม ความตายเป็นสิ่งจำเป็นต่อความก้าวหน้าและผู้มาที่หลัง ความตายเป็นโอกาสทองสู่การเปลี่ยนสู่สภาวะที่ดีกว่า ความตายทำให้เราเป็นมนุษย์ ความตายทำให้เวลาที่เหลืออยู่มีคุณค่าความหมาย การดูแลการตายเป็นสภาวะบ่มเพาะและฟื้นฟูความกรุณา การอยู่ดูแลผู้วายชนม์เป็นของขวัญที่ทั้งสองมอบให้กัน เป็นต้น

ในวงเสวนา เสนอว่า ยังมีวรรณกรรมอีกหลายชิ้นที่พูดถึงความตายในมิติทางศาสนา ปรัชญา และชีวิตหลังความตาย เช่น

  • Podcast: Shortcut ปรัชญา EP 15, 16
  • ซัม สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย
  • สูตรสู่สุคติ
  • คุณปู่ หลังความตายเป็นอย่างไรนะ
  • ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ

ประวัติศาสตร์ของระบบความตาย

ระบบความตายเปลี่ยนแปลงตามระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ศาสนา การเมือง รูปแบบประชากร ระบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ระบบความตายจึงเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาด้วย

มีนักประวัติศาสตร์หลายคนศึกษาประวัติศาสตร์ของความตาย งานชิ้นสำคัญได้แก่ The Our of Our Death ของ Philippe Ariés ที่เสนอว่าช่วงเวลาหนึ่ง มนุษย์มีท่าที และวิถีการปฏิบัติต่อความตายไม่เหมือนกัน โดยพลังที่ใหญ่ที่สุดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการตายคือพลังทางการแพทย์

วงเสวนายังแนะนำหนังสือ
The Revival of Death ของ Tony Walter และ วัฒนธรรม ความตาย กับวาระสุดท้ายของชีวิต สำหรับผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ความตายในสังคมไทย

กิจกรรม Group Read จัดวงคุยเรื่องระบบการตายต่อ ท่านสามารถเข้าร่วม Discord ชีวาภิบาล เพื่อติดตามและร่วมกิจกรรมได้ที่ https://discord.gg/cheevabhibaln

ขอบคุณคุณจุ๋มที่กรุณาทำบันทึกย่อและนำอ่าน ดูบันทึกได้ที่นี่

ชมคลิปบันทึกเสวนาย้อนหลังได้ที่ Youtube

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา