เรื่องเล่าดิจิทัล (Digital Storytelling) กับการสื่อสารสร้างทัศนคติที่ดีต่อการดูแลแบบประคับประคอง
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ19 พฤษภาคม 2565 ผู้เขียนได้ยินและได้เห็นเรื่องเล่าดิจิทัล หรือ Digital Storytelling ครั้งแรก ในงานประชุมนานาชาติด้านการสาธารณสุขและการดูแลแบบประคับประคอง Public Health and Palliative Care 2019 ที่ออสเตรเลีย ตัวชิ้นงานเองเป็นทั้งผลลัพธ์และการสื่อสารงานวิชาการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนงานดูแลแบบประคับประคอง ด้วยเสน่ห์ของงานวิจัยแบบนี้ที่เสพง่าย (และมีวีดีโอให้ดู) วิทยากรเพียงเกริ่นถึงกรณีผู้ให้ข้อมูลในวีดีโอ เปิดวีดีโอให้ชม และตอบคำถามช่วงท้ายเท่านั้น งานนำเสนอส่วนที่เหลือคือการฉายวีดีโอให้ผู้ร่วมประชุมรับรู้เรื่องราวจากผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ดูแล ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ป่วยระยะท้ายในฮอซพิซ ด้วยเสียงและภาพประกอบของตนเอง หลังฉายจบค่อยเล่าเบื้องหลัง กระบวนการสร้างเรื่องเล่า เรื่องเล่าดิจิทัล แม้ดูเผินๆ อาจเข้าใจว่าคือวีดีโอสารคดีชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตผู้ป่วย แต่ในทางญาณวิทยา เรื่องเล่าดิจิทัล ต่อยอดจากระเบียบวิธีวิจัยแบบเรื่องเล่า (Narrative Inquiry) ที่ให้ความสนใจกับประสบการณ์ของผู้เล่าเรื่องที่มักเป็นผู้อยู่ชายขอบของสังคม หากเป็นการวิจัยเรื่องเล่าดั้งเดิม เรื่องเล่าจะอยู่ในรูปบันทึกเรื่องเล่า โดยนักวิจัยจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างสัมพันธภาพกับผู้เล่าเรื่อง แล้วฟังประสบการณ์วิกฤตของผู้เล่าเรื่อง ปล่อยให้ผู้เล่าได้เปิดเผยเรื่องราวชีวิตของตนเองอย่างพรั่งพรูออกมาโดยนักวิจัยแทรกแซงให้น้อยที่สุด แต่ในปัจจุบัน คนอ่านบันทึกเรื่องเล่าจากงานวิจัยกันน้อยลง นักวิจัยจึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้สื่อใหม่อย่างสื่อดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือสร้างเรื่องเล่าพร้อมไปกับการเล่าเรื่อง นักวิจัยทีมนี้สนใจประสบการณ์ของผู้สูงอายุ ผู้ดูแล ผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งผู้ป่วยระยะท้ายที่มีต่อการรักษาแบบประคับประคอง เริ่มจากรับสมัครกลุ่มคนเล่าเรื่อง …