การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care – PC) ได้รับการพูดถึงและยอมรับมากขึ้นในงานสาธารณสุขของประเทศไทย นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบบสุขภาพและภาคประชาชนส่งเสียงเรียกร้องให้งานดูแลแบบประคับประคอง แผ่ขยายออกจากโรงพยาบาลมาสู่ชุมชนมากขึ้นจากแนวคิด Community-based palliative Care (การดูแลแบบประคับประคองฐานชุมชน) การผสานการทำงานระหว่างการดูแลแบบประคับประคองกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Health Care – PHC) จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผู้เขียนเรียบเรียงเหตุผล ความจำเป็น อุปสรรคของการทำงาน และแนวทางการพัฒนาการดูแลแบบประคับประคองในระบบสุขภาพปฐมภูมิ (ต่อไปจะใช้ตัวย่อว่า PCxPHC) จากเอกสารชุด Why Palliative Care Is An Essential Function of Primary Health Care ปี 2018 [1] ดังนี้
ความจำเป็นในการพัฒนา PCxPHC
- การดูแลแบบประคับประคองที่ผสานกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustanable Development Goal – SDG) หมวดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage – UHC ข้อ 3.8)
- ในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ด้วยอุปสรรคหลายประการ เช่น สังคมขาดความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่วยงท้าย อุปสรรคด้านการเดินทาง ความไม่พร้อมของหน่วยประคับประคองที่โรงพยาบาล ดังนั้น การพัฒนา PCxPHC ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองจากที่บ้านและชุมชน ลดความทุกข์จากความปวด อาการรวบกวรคุณภาพชีวิตช่วงท้าย แก้ปัญหาความทุกข์ทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ณ ที่บ้านและชุมชน
อุปสรรคของการพัฒนา PCxPHC
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง ควรแก้ไขความเข้าใจใหม่ 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1) การดูแลแบบประคับประคอง ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่กำลังประสบปัญหาและความทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหรือภาวะคุกคามชีวิต
2) การดูแลแบบประคับประคอง ไม่ใช่การรักษาทางเลือก แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ดูแล ในระบบสุขภาพหลักที่รัฐจัดเตรียมให้ - ขาดนโยบายระดับชาติด้านการดูแลแบบประคับประคอง ได้แก่ แผนการดูแล แนวทางการดูแลทางคลินิก
- ขาดการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองแก่บุคลากรสุขภาพ ทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับเชี่ยวชาญ
- ขาดบุคลากร ไม่มีค่าตอบแทนบุคลากร ความก้าวหน้าในอาชีพของบุคลากรแบบประคับประคองทั้งในและนอกโรงพยาบาล
- ขาดแผนและชุดสิทธิประโยชน์การดูแลแบบประคับประคองในระบบหลักประกันสุขภาพ
- ความกังวลของบุคลากรสุขภาพในการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ กลัวผลข้างเคียง กลัวการเสพติด กลัวทำผิดกฎหมาย
- อุปสรรคด้านการเดินทางของผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง
- ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องการเสียที่บ้าน กังวลที่จะมาโรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้าน จึงไม่มารับการวินิจฉัยตั้งแต่แรก และเสียโอกาสเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง
- ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิไม่บรรจุแนวทางและระบบการดูแลแบบประคับประคองไว้ในงานประจำ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะบรรจุแนวทางและสร้างปัจจัยที่จำเป็นให้บ้านและชุมชนเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง
จุดร่วมระหว่างการดูแลแบบประคับประคอง และการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ
- PCxPHC มีจุดร่วมกันด้านหลักการ ตามแถลงการณ์ แถลงการณ์สมัชชาสุขภาพองค์การอนามัยโลก ปี 2009 ที่ WHA62.12 กล่าวว่าการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ มีหลักการทำงานที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพได้แก่ 1) ความเป็นธรรม 2) ความยุติธรรมทางสังคม 3) การเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้า 4) ส่งเสริมปฏิบัติการณ์หลายภาคส่วน 5) กระจายอำนาจ 6) ชุมชนมีส่วนร่วม
- การพัฒนาทั้ง PC และ PHC ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน ที่มีบทบาทในการตั้งประเด็นนโยบาย การพัฒนากลไกการดูแลสุขภาพในระบบให้เข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้า ราคาเป็นธรรม และสมเหตุสมผล
- ทั้ง PC และ PHC ให้ความสำคัญกับการดูแลต่อเนื่อง การส่งต่อการดูแลที่มีประสิทธิภาพ การดูแลเคียงข้างการเผชิญปัญหาหรือความทุกข์ทางสังคม การเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้ป่วยและครอบครัว
แนวทางพัฒนา PCxPHC
- ทบทวนนโยบาย PC และ PHC ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น
- สร้างสรรค์นโยบายในส่วนที่ยังขาด โดยเทียบกับคู่มือ Essential package of Palliative Care for Primary Health Care (EP PHC) [2]
- พัฒนาบริการบรรเทาปวดและอาการรบกวนคุณภาพชีวิต สำหรับผู้ป่วยที่บ้านและชุมชน เช่น หน่วยบรรเทาปวดเคลื่อนที่เร็ว
- จัดอบรมความรู้พื้นฐานด้านการดูแลแบบประคับประคองให้บุคลากรสุขภาพทุกหน่วย ทั้งเจ้าหน้าที่ในและนอกโรงพยาบาล รวมทั้งอาสาสมัครและผู้นำชุมชน ที่มีโอกาสให้บริการผู้ป่วยกลุ่มที่มักต้องการการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากเนื้อหาพื้นฐานด้านการดูแลแบบประคับประคองแล้ว หากเป็นไปได้ ควรเพิ่มศักยภาพในการดูแลใจ การสังเกตอาการรบกวนที่ควบคุมไม่ได้ สังเกตสิ่งค้างคาใจ ความต้องการดูแลด้านสังคม การใช้ยาที่ไม่เกิดประโยชน์ ทักษะการส่งต่อและปรึกษาการดูแลให้บุคลากรสุขภาพที่มีทักษะเชี่ยวชาญในระดับสูงขึ้น เพื่อให้แพทย์หรือพยาบาลชุมชนเข้าเยี่ยมและให้การดูแล ย่อมเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยและครอบครัว
- ผสานบริการการดูแลแบบประคับประคองในระบบบริการสุขภาพในทุกระดับ ผสานการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน (palliative home care) ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ
- ในพื้นที่ที่ขาดทั้ง PC และ PHC ให้พัฒนาทั้งสองระบบควบคู่กันไป เพราะการพัฒนาการดูแลแบบประคับประคองฐานชุมชน จะช่วยให้งาน PHC เข้มแข็งขึ้นด้วย
- พัฒนากำลังคนที่มีส่วนทำ PCxPHC ได้แก่ แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ เจ้าหน้าที่ลินิก พยาบาลเวชปฏิบัติ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักให้คำปรึกษา เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน (Community Health Workers) นักบวช ผู้นำศาสนา อาสาสมัครสุขภาพ และผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว
- เตรียมงบประมาณ การทำ PCxPHC มักไม่สามารถใช้เจ้าหน้าที่ PHC ที่มีอยู่มาทำ PCxPHC ได้ เพราะงานเดิมก็ล้นมืออยู่แล้ว รัฐบาลต้องจัดเตรียมงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติม แม้งบประมาณส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น แต่จะไปลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลและงบประมาณสาธารณสุขในภาพรวม ลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชน
เกี่ยวกับ Essential package of Palliative Care for Primary Health Care (EP PHC)
EP PHC คือเอกสารรวบรวมแนวทาง/ หลักการ/ เครื่องมือ สำหรับพัฒนานโยบาย นักวางแผน นักปฏิบัติการ นักจัดการ สำหรับการดูแลแบบประคับประคองฐานชุมชน แนวทางในเอกสารเป็นขั้นต่ำ (Minimal level) พูดถึงประเด็นสำคัญได้แก่
- การเข้าถึงยาบรรเทาปวดสำหรับผู้ป่วยนอกที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ไม่แพง และครอบคลุม
- อุปกรณ์การดูแลที่ง่ายและประหยัด
- การสนับสนุนทางสังคมขั้นพื้นฐาน
- ทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการ EP PHC ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
เอกสารอ้างอิง
- [1] World Health Organization. (2018). Why palliative care is an essential function of primary health care (No. WHO/HIS/SDS/2018.39). World Health Organization.
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/328101/WHO-HIS-SDS-2018.39-eng.pdf - [2] World Health Organization. (2018). Integrating palliative care and symptom relief into primary health care: a WHO guide for planners, implementers and managers. https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/274559/9789241514477-eng.pdf
ภาพประกอบบทความจากเอกสาร [1]