ความรู้เท่าทันความโศกเศร้า (Grief Literacy)

เขียนโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 
เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2565

Key Message

  • ความรู้เท่าทันความโศกเศร้า (Grief Literacy) คือศักยภาพในการรับมือความโศกเศร้าจากความสูญเสีย ประกอบด้วยความรู้ ทักษะปฏิบัติ และคุณค่าที่สนับสนุนการรับมือ
  • การสร้างความรู้เท่าทันความโศกเศร้า คือการเสริมสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติของบุคคลและเครือข่ายต่างๆ ของชุมชน ให้มีความสามารถในการดูแลความสูญเสีย เน้นการทำงานเชิงส่งเสริมป้องกันมากกว่าการบำบัด

ความโศกเศร้า

ความโศกเศร้า (Grief) คือประสบการณ์ความทุกข์หลังการสูญเสียสิ่งที่มีความสำคัญโดย โดยเฉพาะบุคคลที่มีความผูกพันและมีความหมาย [1] อาจรวมถึงการสูญเสียอวัยวะ การงาน วิถีชีวิตปกติ การสูญเสียคุณค่าสำคัญที่บุคคลยึดถือ รวมถึงการรับรู้ว่าชีวิตของตนเหลืออยู่จำกัดอันเนื่องจากความเจ็บป่วยและการตาย

ความโศกเศร้ามองได้หลายแง่มุม ในมุมจิตวิทยา เราอาจมองว่าความโศกเศร้าคือปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังความสูญเสียของปัจเจกบุคคล ผู้สูญเสียจะใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อรับมือกับความเศร้าในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมีปลายทางคือการฟื้นคืนสมดุลชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ความเศร้าที่ผิดปกติ เรื้อรัง หรือซับซ้อน จำเป็นต้องรักษาหรือได้รับความช่วยเหลือโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา นักบำบัด 

ในทางการแพทย์ อาจมองความโศกเศร้าในมุมของชีววิทยา หรือประสาทวิทยา ความโศกเศร้าอาจรักษาได้ด้วยยาต้านเศร้า เพื่อคืนสมดุลเคมีในสมอง และกลับมาดำเนินชีวิตและทำงานได้ตามปกติ

การมองความเศร้าทั้งสองแง่มุมมีส่วนถูก แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะในสถานการณ์โรคระบาดที่คนในสังคมเผชิญความสูญเสียขนานใหญ่ ระบบบริการสาธารณสุขไม่สามารถให้บริการรักษาความเศร้าด้วยนักจิตวิทยา นักบำบัด จิตแพทย์ และยาต้านเศร้าได้เท่านั้น การมองความเศร้าด้วยโมเดลจิตวิทยาและการแพทย์ ยังทำให้ภาระในการดูแลความเศร้าเป็นของ “ผู้โศกเศร้า” และ “นักวิชาชีพ” เท่านั้น

ความรู้เท่าทันความโศกเศร้ากับชุมชนกรุณา

จุดยืนของ Compassionate Communities (ชุมชนกรุณา) และ Public Health Palliative Care (สาธารณสุขแห่งการดูแลแบบประคับประคอง) มองว่า การตายและความสูญเสีย เป็นความรับผิดชอบของทุกคน (Everybody’s bussiness) ในชุมชน มิใช่บทบาทของนักวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะฝากไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมดูแล สนับสนุนการฟื้นคืน อีกทั้งโดยปกติแล้ว ผู้โศกเศร้ามักแสวงหาความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน มากกว่าจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัด [2] นอกจากนี้ สมาชิกในชุมชนที่สามารถดูแลความโศกเศร้าของตนเองและผู้อื่นได้ ย่อมมีส่วนช่วยให้ตนเองมีความพร้อมรับมือกับการดูแลการตาย ความสูญเสียมากขึ้น 

ความรู้เท่าทันความโศกเศร้าในระดับบุคคล ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และคุณค่าที่เอื้อต่อการดูแลความโศกเศร้าจากการสูญเสีย ตัวอย่างเช่น

องค์ประกอบความรู้เท่าทันความสูญเสียในระดับบุคคลตัวอย่างรายการความรู้เท่าทันความสูญเสียจำแนกตามองค์ประกอบต่างๆ
ความรู้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของความโศกเศร้าจากการสูญเสีย แนวทางการรับมือความรู้้เกี่ยวกับแหล่งช่วยเหลือสนับสนุนการดูแลความสูญเสียจากหน่วยงานด้านสุขภาพจิต กลุ่มดูแล (support group)
ทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจการประเมินความโศกเศร้าการขอความช่วยเหลือการเสนอความช่วยเหลือการให้ความเข้าอกเข้าใจการใช้พิธีกรรมดูแลความความโศกเศร้าการแสดงออกซึ่งความโศกเศร้าการดูแลตัวเอง
ทัศนคติมองว่าความโศกเศร้าเป็นเรื่องปกติ ไม่กดทับ ปฏิเสธความโศกเศร้ามองว่าความโศกเศร้าเป็นประสบการณ์หนึ่งของมนุษย์ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาวุฒิภาวะ การรับรู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริงการมองว่าความโศกเศร้าจากความสูญเสียแสดงออกได้หลากหลายวิธี บุคคลแสดงออกซึ่งความโศกเศร้าแตกต่างกันมองว่าความโศกเศร้าเป็นภาวะที่ไม่คงทนถาวร สามารถแปรเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นได้ ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ รับมือ อยู่ร่วมกับความเศร้าได้อย่างสันติ

แม้ความรู้เท่าทันความโศกเศร้าจะเป็นศักยภาพส่วนบุคคล แต่ศักยภาพนี้ก็สามารถเพิ่มพูนได้ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลความโศกเศร้าด้วย เช่น มีการเรียนรู้ในระบบการศึกษา มีกลุ่มองค์กรที่ทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อสนับสนุนการดูแลความโศกเศร้า มีนโยบายและทรัพยากรสนับสนุนการดูแลความสูญเสียในองค์กร สถานที่ทำงาน สถานบริการสุขภาพ นี่คือรูปธรรมของการทำให้การดูแลความสูญเสียเป็นความรับผิดชอบของทุกคน (ดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “ตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนว่าชุมชนและสังคมมีความรู้เท่าทันความโศกเศร้า” ด้านล่าง

จุดยืนอีกประการหนึ่งของการดูแลความโศกเศร้า คือการมองว่า ความโศกเศร้าสามารถสร้างความทุกข์ทรมานและผลกระทบทางลบทางสุขภาพได้ในทุกมิติ ขณะเดียวกัน หากบุคคลมีความรู้ ทักษะ และคุณค่าสนับสนุนการดูแลความเศร้า ความโศกเศร้านั้นก็จะไม่ก่อทุกข์ที่รุนแรง เรื้อรัง และซับซ้อนมากนัก นอกจากนี้ การรับมือกับความเศร้าที่มีสุขภาวะ ยังช่วยให้บุคคลเติบโตทางวุฒิภาวะ มีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับความสูญเสียและความไม่แน่นอนของชีวิตได้ การดูแลความโศกเศร้าจึงคลายกับการดูแลความเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ชุมชนสามารถช่วยกันป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูได้ มากไปกว่านั้น ผู้ที่สามารถผ่านพ้นและรับมือความโศกเศร้าได้ ย่อมจะมีความเข้าอกเข้าใจผู้โศกเศร้าอื่นๆ และสามารถส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

ก่อนที่การดูแลความโศกเศร้าจะเป็นประเด็นทางสุขภาพจิตในสังคมสมัยใหม่ ชุมชนเคยมีบทบาทอย่างมากต่อการดูแลความโศกเศร้าผ่านรูปแบบของการมีส่วนร่วมในการจัดงานศพ การไว้ทุกข์ การจัดงานบุญครบรอบวันตาย ซึ่งเป็นกิจกรรมสังคมและวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่่มทางสังคมและสนับสนุนทุนทางสังคม (Social Capital) เพื่อช่วยดูแลผู้สูญเสียให้ข้ามพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิตไปได้

แนวทางการดูแลความโศกเศร้าเช่นนี้ มิใช่การขจัดความโศกเศร้าให้ปราศนาการไป ซึ่งอาจทำให้เราตกอยู่ในกับดักอีกรูปแบบหนึ่งคือการปฏิเสธความเศร้า การตีตราความเศร้า การเก็บกดความโศกเศร้า ซึ่งยังเป็นรูปแบบการรับมือที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะ และอาจมักจะก่อผลข้างเคียงในรูปแบบอาการทางจิตเวชหรือความเจ็บป่วยทางกายในรูปแบบอื่นๆ 

การพัฒนาชุดความรู้ ทักษะการดูแล และคุณค่าที่เอื้อต่อการดูแลความสูญเสียน้ีเอง คือการพัฒนา “ความรู้เท่าทันความโศกเศร้า” (Grief Litercy) ในระดับสังคม ซึ่งมิใช่เพียง “วิธีแก้ปัญหาความโศกเศร้า” (Grief intervention) ในระดับบุคคล

ความรู้เท่าทันความโศกเศร้า คือกระแสความเคลื่อนไหวที่สนับสนุนให้การดูแลแบบประคับประคองเป็นงานในระดับสาธารณสุข ซึ่งสนับสนุนคุณค่าเกี่ยวกับ สุขภาวะ การสร้างความร่วมมือ ความยึดโยงของชุมชนและสังคม การถักทอทางสังคม การพัฒนาทักษะทางอารมณ์ เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากความเหงา ความโดดเดี่ยว การตีตรา การฆ่าตัวตาย [3] แนวทางเบื้องต้นในการสร้างความรู้เท่าทันความโศกเศร้าในระดับสังคม ตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างแนวทางการสร้างความรู้เท่าทันความโศกเศร้า

การพัฒนาความรู้การพัฒนาและเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของความโศกเศร้าของผู้สูญเสียรูปแบบต่างๆ การรับมือความโศกเศร้าในลักษณะต่างๆสนับสนุนการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้โศกเศร้า เครื่องมือดูแลความโศกเศร้าและแหล่งช่วยเหลือการผลิตสื่อ โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หน่วยบริการ ผู้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลความโศกเศร้า
การพัฒนาทักษะเสริมสร้างทักษะให้ความช่วยเหลือผู้โศกเศร้าในลักษณะต่างๆ เช่น การฟังอย่างไม่ตัดสิน สามารถประเมินความเศร้า ให้กำลังใจ เสนอความช่วยเหลือผู้โศกเศร้าได้อย่างเข้าอกเข้าใจสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนสามารถสร้างและพัฒนากลุ่มช่วยเหลือดูแลกันในชุมชน (Self help group) เพื่อดูแลความโศกเศร้า ดูแลบริหารกลุ่มจากการมีส่วนร่วมของนักจิตวิทยา อาสาสมัคร และสมาชิกในชุมชนสนับสนุนการจัดพิธีกรรม จัดกิจกรรมทั้งทางศาสนาและไม่ใช่ศาสนาในการดูแลความโศกเศร้า ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์จัดงานศพและกิจกรรมรำลึกภายใต้เงื่อนไขการรักษาระยะห่างทางสังคมในวิกฤตโควิด (Soical Distancing) แต่ยังคงไว้ซึ่งการสนับสนุนทางสังคม (Social Support) ทุนทางสังคม (Social Capital) การยึดโยงทางสังคม (Soical Cohesion) 
การเสริมสร้างคุณค่าความรู้เท่าทันความโศกเศร้าสนับสนุนค่านิยมการแสดงออกซึ่งความโศกเศร้าอย่างเป็นปกติ ด้วยความเข้าอกเข้าใจสนับสนุนการสื่อสารเรื่องเล่าเชิงบวกเกี่ยวกับความเศร้าและการรับมือกับความเศร้าพัฒนานโยบายขององค์กรและชุมชน ที่เอื้อต่อการดูแลความเศร้า เช่น การสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่มดูแลช่วยเหลือกันระหว่างผู้โศกเศร้า สนับสนุนหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลความเศร้าในระบบการศึกษา สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการดูแลความโศกเศร้าในโรงเรียน ที่ทำงาน และชุมชน การอนุญาตให้หยุดเรียนหรือหยุดงานเพื่อดูแลความโศกเศร้า การวางนโยบายการให้บริการดูแลความโศกเศร้าอย่างคำนึงถึงความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ อายุ ความหลากหลายทางเพศ​ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมสนับสนุนมิติการดูแลความโศกเศร้าในกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสีย

ตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนว่าชุมชนและสังคมมีความรู้เท่าทันความโศกเศร้า

  • ขณะที่เพื่อนบ้านกำลังทำอาหารปิกนิกด้วยกัน เพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่าตนเองเป็นอาสาสมัครรับฟังผู้สูญเสีย  เพื่อนบ้านอีกคนสนใจถึงงานอาสดังกล่าว และสอบถามวิธีการดูแลความสูญเสียเพิ่มเติม
  • เมื่อเจ้านายของสมชายรู้ว่าภรรยาของสมชายเพิ่งแท้งบุตร เขาจึงอนุญาตสมชายอนุญาตลางานไปดูแลภรรยาที่กำลังสูญเสีย
  • สามีของไอโกะเสียชีวิตไปเมื่อสามวันก่อน เพื่อนบ้านของไอโกะจึงทำกับข้าวมาให้งและถามว่าเธอต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่
  • หน่องเป็นชาวพม่าที่ทำงานท่ีแคมป์ก่อสร้าง ชอบเล่นกับสุนัขของสมชาย สมชายถามหน่องว่าทำไมเขาชอบเล่นกับสุนัข หน่องบอกว่าบ้านของเขาที่พม่าก็เลี้ยงสุนัข แต่เขาไม่ได้เจอมันอีกเลยตั้งแต่อพยพมาทำงานที่ไทย สมชายจึงถามเรื่องราวเกี่ยวกับหน่อง และอนุญาตให้หน่องเล่นกับสุนัขได้
  • จิวเฟิ่น เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศจีน ในชั้นเรียนภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร ครูขอให้จิวเฟิ่นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดงานศพในจีน จิวเฟิ่นเล่าพิธีศพของอากง และการดูแลความโศกเศร้าของครอบครัว เมื่อเล่าจบ เพื่อนๆ ขอบคุณที่เขาแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัว ให้กำลังใจ คาบหน้าครูให้ตัวแทนนักเรียนไทยเล่าเรื่องราวในลักษณะเดียวกัน
  • เพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยชั้นเรียนเดียวกันสังเกตว่า จอยสวมเสื้อแขนยาวแม้ในวันที่อากาศร้อน และมีอาการซึม ไม่พูดกับใคร ไม่ร่วมงานกลุ่ม จึงนำเรื่องไปเล่าให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟังว่าจอยอาจทำร้ายตัวเอง และมีเรื่องไม่สบายใจ
  • มหาวิทยาลัยเพิ่มการจัดบริการให้คำปรึกษาทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นสองเท่าในช่วงสถานการณ์โควิด เพื่อดูแลนักเรียนที่มีอาการเครียดและซึมเศร้า
  • ห้องสมุดจัดกิจกรรมเสวนาเรื่องการดูแลความโศกเศร้า หลังจบกิจกรรม ราชิตพูดถึงประสบการณ์จัดการความโศกเศร้าของตัวเองให้สิริฟัง ทั้งสองคนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลสมาชิกที่ป่วยระยะท้าย การวางแผนดูแลล่วงหน้า การวางแผนงานศพกันต่อ ทั้งสองคนจึงมีความรู้ที่พร้อมมากขึ้นในการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่กำลังป่วยเรื้อรัง
  • ฟ้าใส พนักงานคนหนึ่งในบริษัทเสียชีวิตจากโควิด หัวหน้างานจึงจัดกิจกรรมยืนสงบนิ่งไว้อาลัย 1 นาที ในทุกการประชุม เพื่อเป็นการระลึกถึงสมาชิกในบริษัท
  • หลังจากภรรยาของประชาเสียชีวิต ประชาโศกเศร้ามาก พยาบาลแบบประคับประคองปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ให้ประชาได้รับเงินสวัสดการชดเชยที่ภรรยาจากไป เพื่อให้เขายังไม่ต้องเร่งกลับไปทำงานขณะที่สภาพจิตใจยังไม่พร้อม
  • หลังจากอิศราสูญเสียลูกหนึ่งสัปดาห์ ต้องตาผู้เป็นเพื่อนไปเยี่ยมเธอที่บ้าน ตั้งใจว่าจะไม่พูดปลอบใจอะไร เพราะไม่มีคำพูดใดปลอบใจเธอได้ ต้องตาไม่หลีกเลี่ยงความเงียบ แต่ปรากฏตัวให้อิศรารู้สึกว่าเธอไม่ได้โดดเดี่ยว และมีคนพร้อมสนับสนุน
  • หลังจากผู้จัดการบริษัทเรียนรู้ว่า ผู้สูญเสียไม่ได้เผชิญความโศกเศร้าเป็นเส้นตรง (ใช่ว่าหลังสูญเสียแล้วจะรู้สึกโศกเศร้ามากที่สุด แล้วความเศร้าจะลดลงไปตามลำดับ) ผู้จัดการจึงอนุญาตให้ผู้ที่รู้สึกสูญเสียลางานได้เมื่อรู้สึกเศร้า โดยไม่ลงโทษหรือตีตราผู้หยุดงานอันเนื่องจากความเศร้า

เอกสารอ้างอิง

[1] American Psychological Association. Grief. https://dictionary.apa.org/grief

[2] Aoun, S. M., Breen, L. J., Howting, D. A., Rumbold, B., McNamara, B., & Hegney, D. (2015). Who Needs Bereavement Support? A Population Based Survey of Bereavement Risk and Support Need. PLOS ONE, 10(3), e0121101. doi:10.1371/journal.pone.0121101

[3] Breen, L. J., Kawashima, D., Joy, K., Cadell, S., Roth, D., Chow, A., & Macdonald, M. E. (2020). Grief literacy: A call to action for compassionate communities. Death Studies, 1-9. doi:10.1080/07481187.2020.1739780

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา