เขียนโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
2022-6-29
บทความนี้เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการสรุปบทเรียนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนการอยู่และตายดีในพื้นที่ชุมชนกรุณา เรียบเรียงจากการอบรม Workshop สรุปบทเรียนการทำงานชุมชนกรุณา เพื่อสนับสนุนการอยู่ดี ตายดี วันที่ 17-18 มิถุนายน 2565 ณ บ้านไม้หอม พระราม 2 กรุงเทพ วิทยากรโดย คุณหทัยรัตน์ สุดา หรือครูอ้อ แห่งห้องสมุดผีเสื้อ จ.ศรีสะเกษ กับกระบวนกรชุมชนทั้ง 18 คน จากพื้นที่ปฏิบัติการชุมชนกรุณาหลากพื้นที่
ทำไมต้องสรุปบทเรียนชุมชนกรุณา
การทำงานชุมชนกรุณา เช่นเดียวกับงานพัฒนาสังคมอื่นๆ ที่คนทำงานอยากเห็นการทำงานของตนเองพัฒนาขึ้น ทำน้อยแต่ได้มาก ตอกย้ำว่างานของเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ บรรลุเป้าหมายของงาน จะบรรลุสิ่งเหล่านี้ กลไกสำคัญหนึ่งในการพัฒนางานและตนเองก็คือการสรุปบทเรียน
การไม่สรุปบทเรียน ทำให้เราเจอความผิดพลาดซ้ำๆ อุปสรรคที่มีอยู่ก็อาจจะคงอยู่อย่างนั้น สิ่งคาดหวังยังดูเหมือนห่างไกล
แน่นอนว่าการสรุปบทเรียนเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้บทเรียนที่สรุปได้ไม่เป็นเพียงงานเอกสาร แต่แผ่ซึมเป็นประสบการณ์ในใจ เปลี่ยนแปลงกรอบคิดหรือวิธีทำงานที่ถูกทิศทางมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนทำงานก็ได้พัฒนาตนเอง มีชีวิตชีวา
เวิร์คชอปที่ครูอ้อนำการเรียนรู้ได้นำเสนอสิ่งนี้
การสรุปบทเรียน ต้องสร้างสมดุลระหว่าง บทเรียน กับ การเสริมพลังอำนาจผู้ร่วมสรุปบทเรียน
สิ่งหนึ่งที่ครูอ้อทำให้เห็นคือ ในระหว่างการสรุปบทเรียนของกระบวนกรชุมชน เราจะได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นแนวร่วมในการทำงาน
นอกเหนือจากการ “ดูด” เอาบทเรียนที่อยู่ในตัวคน (tacit knowledge) ออกมาเป็นบทเรียนที่คนอื่นๆ ศึกษาเรียนรู้ได้ (explicit knowledge) แล้ว กระบวนการสรุปบทเรียนนี้เองเป็นโอกาสในการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) ตัวเราและเพื่อนๆ ในวงสรุปบทเรียน ผู้นำการสรุปบทเรียนก็ได้ความรู้ใหม่ และได้แบ่งปันความรู้เดิมของตนลงไป กระบวนการสรุปบทเรียนทำให้บทเรียนมีค่ามากขึ้น
การให้เกียรติ การให้ความเคารพ การฟังอย่างเต็มตัวเต็มใจ การใช้อวัจจนภาษา เคารพบทเรียนที่เพื่อนๆ แบ่งปันนั้น นอกจากเราจะได้บทเรียนที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นกระบวนการเสริมพลัง เสริมความมั่นใจ ทำให้ความเชื่อมโยงในงานและในชีวิตแน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้น เกิดความสร้างสรรค์และความเป็นไปได้ใหม่ๆ คุณภาพจากการสรุปบทเรียนนี้แปรเปลี่ยนไปสู่พลังชีวิตที่จะร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามตามที่ชุมชนกรุณาเชื่อหลังจบวงสรุปบทเรียน
ขณะเดียวกัน การเสริมพลังอำนาจก็ใช่จะต้องมีแต่เรื่องชื่นชม สงวนงดความเห็นแตกต่างหรือข้อวิจารณ์ เพราะการสรุปบทเรียนที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจทำให้ทุกฝ่ายเสียเวลา ดังนั้น ในการสรุปบทเรียน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแบ่งปันเสียงสะท้อน (feedback sharing)
ให้และรับเสียงสะท้อน
การให้และรับเสียงสะท้อนเป็นองค์ประกอบที่แทรกอยู่ในทุกการสรุปบทเรียน การให้เสียงสะท้อนอาจเป็นยาขมสำหรับผู้รับเสียงสะท้อนหลายคน (อันที่จริงก็อาจจะทุกคน) จะดีแค่ไหนที่การให้เสียงสะท้อนรักษาหัวใจอันบอบบางของสมาชิกในวงสรุปบทเรียน ครูอ้อได้แนะนำกระบวนการที่ทำให้สมาชิกในทีมกล้าสะท้อนกันมากข้ึนและถนอมใจผู้รับเสียงสะท้อน ดังนี้
แบบฝึกสำหรับผู้ให้เสียงสะท้อน
- จดบันทึก
- เหตุการณ์ พฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมที่เพื่อนทำได้ดี และที่ควรปรับปรุง ในระหว่างกิจกรรม
- ผลกระทบของเหตุการณ์/ พฤติกรรมนั้น
- ข้อชม/ ข้อแนะนำ ที่ขึ้นต้นประโยคว่า “จะดีกว่านี้ถ้า…”
- ผู้ให้เสียงสะท้อน กล่าวชม สิ่งที่เพื่อนทำได้ดี
- ผู้ให้เสียงสะท้อนอ่านหัวข้อ “จะดีกว่านี้ถ้า…” โดยไม่กล่าวเสริม และสมาชิกที่เหลือไม่แสดงท่าทีเห็นด้วยมากเกินไป
สำหรับผู้รับเสียงสะท้อน
- ก่อนรับเสียงสะท้อน กล่าวคำว่า “ยินดีรับเสียงสะท้อนค่ะ/ครับ”
- ระหว่างฟังเสียงสะท้อน ตั้งใจฟัง ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องจด
- เมื่อได้ยินเสียงสะท้อนจบแล้ว ให้กล่าวขอบคุณ
เมื่อผู้เข้าร่วมทดลองฝึกการให้และรับเสียงสะท้อนตามกระบวนการนี้แล้ว จะพบว่าการชื่นชมและการแนะนำเป็นสิ่งที่ง่าย กระชับ และปลอดภัยขึ้นมาก ทุกคนเห็นด้วยที่จะฝึกทักษะแบ่งปันเสียงสะท้อนนี้จนกลายเป็นความคุ้นชินในการทำงาน
ผืนผ้าใบแห่งการสรุปบทเรียน (Lesson Learning Canvas)
การสรุปบทเรียนมีหลายระดับ ตั้งแต่สรุปบทเรียนรายกิจกรรม หลายคนเรียกว่า After Action Review – AAR สรุปบทเรียนรายโครงการ สรุปบทเรียนขององค์กร
ถึงแม้ระดับการสรุปบทเรียนจะมีหลายระดับ แต่กระบวนการขั้นตอนก็คล้ายๆ กัน มีองค์ประกอบคำถามใกล้เคียงกัน
เป็นการดีที่เราจะจัดระบบการสรุปบทเรียนของเครือข่ายกระบวนกรชุมชนให้มีความใกล้เคียงกัน จะได้มีแนวปฏิบัติเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน โดยใช้ผ้าใบการสรุปบทเรียน* ดังนี้
- หัวข้อการสรุปบทเรียน
- กรอบระยะเวลาการสรุปบทเรียน
- ระดับการสรุปบทเรียน (❍ กิจกรรม ❍ โครงการ ❍ องค์กร)
- ผู้ร่วมสรุปบทเรียน
- วันที่สรุปบทเรียน
- สถานที่สรุปบทเรียน
- สิ่งที่ทำในกิจกรรม/ โครงการ
- ความคาดหวังในการทำกิจกรรม/ โครงการ
- สิ่งที่ได้ตามความคาดหวัง เพราะอะไรจึงเป็นไปตามความคาดหวัง
- สิ่งที่ไม่ได้ตามความคาดหวัง เพราะอะไรจึงไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร
- สิ่งที่ได้นอกเหนือความคาดหวัง เพราะอะไร
- จะเดินต่อไปอย่างไร เพื่อให้บรรลุสิ่งที่คาดหวัง หรือเพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
นอกจากหัวข้อการสรุปบทเรียนที่ทำให้แน่ใจได้ว่าจะเนื้อหาบทเรียนบางอย่างแล้ว ปฏิสัมพันธ์ ท่าที ของผู้สรุปบทเรียนและสมาชิก ทักษะการฟัง การถามอย่างใส่ใจ การรอคอย การเชื่อมโยง การสรุปร้อยเรียง ยังเป็นตัวกำหนดว่าบทเรียนที่ได้รับนั้นจะมีคุณภาพเพียงใด สรุปบทเรียนแล้วสมาชิกได้รับพลังงานกลับไปทำงานหรือไม่
นอกจากนี้ บทเรียนจะมีคุณค่ามากขึ้นถ้าบทเรียนที่สมาชิกแบ่งปันนั้นมาจากประสบการณ์ตรงจากเรื่องราวชีวิตของผู้สรุปบทเรียน มากกว่าข้อมูลเชิงปรนัยวิสัย เพราะการได้รับฟังข้อมูลจากเรื่องราวชีวิต มีส่วนเสริมพลังอำนาจผู้แบ่งปันบทเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสรุปบทเรียน และหัวใจสำคัญของแนวทางชุมชนกรุณา
ไหนๆ เราก็ต้องสรุปบทเรียนกันอยู่แล้ว เรามาลองสร้างสรรค์วิธีสรุปบทเรียนให้สนุก มีชีวิตชีวา และมีพลังกันเถอะ🦋
*หมายเหตุ
ดาวน์โหลดผืนผ้าใบการสรุปบทเรียน (ปรับจาก Presentation คำบรรยาย Workshop สรุปบทเรียนการทำงานชุมชนกรุณา เพื่อสนับสนุนการอยู่ดีตายดี ของ คุณหทัยรัตน์ สุดา ปรับปรุงให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารและ Canvas โดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ) คลิกดาวน์โหลดฉบับ .docx ได้ที่นี่ และดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้ที่นี่