นิเวศการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย: ข้อเสนอเชิงโยบาย

ความรู้ทักษะที่ช่วยให้บุคคลๆ หนึ่ง สามารถดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายดีสำหรับดูแลตนเองและคนรอบข้าง ไม่อาจเกิดขึ้นจากสุญญากาศ แต่จำเป็นต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ เพื่อให้บุคคลๆ หนึ่ง มีความรู้เท่าทันการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (End of Life Literacy) ผู้เขียนขอใช้แนวคิดวงล้อมแห่งการดูแล (Circles of Care) มาปรับเป็นวงล้อมแห่งการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย (Circles of End of Life care Learning) โดยแต่ละระดับชั้นการเรียนรู้มีดังนี้

1) การเรียนรู้ภายในตัวบุคคล (Self Learning Level)

บุคคลเรียนรู้การดูแลความเจ็บป่วย ความตาย และความสูญเสีย จากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของตัวเอง (ประสบการณ์เฉียดตาย ประสบการณ์เจ็บป่วย และประสบการณ์สูญเสีย)

2) การเรียนรู้จากบุคคลใกล้ชิด (Inner Network Learning)

คือการเรียนรู้จากการสัมผัส พบเห็น และดูแลคนใกล้ชิด การเรียนรู้จากการสั่งสอนอบรม เรื่องเล่า จากคนใกล้ชิด การเรียนรู้จากการสังเกตการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการดูแลการตาย

3) การเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อน (Outer Network Learning)

เช่น วงสนทนา วงแลกเปลี่ยน บอร์ดเกม การเยี่ยมดูแลผู้ป่วย การไปงานศพ การไปงานรำลึกการจากไปของเพื่อน ญาติห่างๆ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน

4) การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาที่เป็นทางการ (Formal Education Learning) 

เช่น หลักสูตรการศึกษาในระบบการศึกษาขั้นสามัญ บัณฑิตศึกษา การศึกษาขั้นสูง ประกาศนียบัตรวิชาชีพที่เกี่ยวกับการดูแล เวทีฝึกอบรมสัมมนา โปรแกรมการอบรมที่เกี่ยวกับการดูแลโดยสถาบันการศึกษา หน่วยบริการ หรือหน่วยงานที่ได้รับรองจากทางการ 

5) การเรียนรู้นอกสถาบันการศึกษา (Informal Education Learning) 

หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เช่น การเรียนรู้จากสื่อมวลชน การเรียนรู้จากภาพยนตร์ เพลง เทศกาล การเรียนรู้จากการจัดเวทีเสวนา/สัมมนา วงแชร์ประสบการณ์ กลุ่มมิตรภาพบำบัด (Self Help Group) การเรียนรู้จากทีมสุขภาพ การอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้จากการดูคลิปวีดีโอ สื่อการสอน สื่อการเรียนรู้ เครื่องมือการเรียนรู้

การเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายที่ดีอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐหรือชุมชน แต่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้อาจไม่แน่นอน อาจเป็นบวก (มีความเข้าใจชีวิต ยอมรับความตาย ปล่อยวางชีวิตได้) หรืออาจส่งผลกระทบทางลบ (ทุกข์ใจจากการดูแลที่ไม่ถูกต้องและไม่พร้อม รู้สึกผิดจากการดูแลที่ส่งผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและตนเอง) คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมไทยจะสร้างพื้นที่เรียนรู้การดูแลความตายให้พลเมืองมีความพร้อมมากขึ้น เมื่อต้องใช้งานความรู้นี้ในวันหนึ่ง

ในระดับโลก งานวิจัยด้านการสาธารณสุขการดูแลแบบประคับประคอง และขบวนการเคลื่อนไหวด้านการสร้างความรู้เท่าทันความตายบ่งชี้ว่า หากคนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย ก็จะมีความพร้อมในการรับมือมากขึ้น ไม่ตระหนกตกใจ เข้าถึงแหล่งช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม หรือแม้กระทั่งรู้สึกภูมิใจ มั่นใจ ที่ตนสามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงท้าย และสามารถที่จะตายได้อย่างมีศักดิ์ศรี

จึงเป็นหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ ที่จะพัฒนาและส่งต่อความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสียให้ประชาชน ผู้เขียนเขียนตารางแนวทางการพัฒนานิเวศการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายดีในแต่ละระดับ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ระดับชั้นความรู้ หน่วยส่งต่อความรู้ นโยบายภาครัฐที่ควรเกิดขึ้น และหน่วยงานนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในนิเวศการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย

ระดับชั้นความรู้หน่วยส่งต่อความรู้นโยบายจากภาครัฐที่ควรเกิดขึ้นหน่วยงานนโยบายที่เกี่ยวข้อง
การเรียนรู้ภายในตัวบุคคลแต่ละคนให้การเรียนรู้ให้ตนเองกิจกรรมสนับสนุนการทบทวนประสบการณ์ภายใน (Inner Experience) และประสบการณ์เผชิญความตายและการดูแลการตายการสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่คู่มือศึกษาการดูแลความเจ็บป่วย การตาย และความสูญเสียด้วยตนเอง เช่น หนังสือพัฒนาตนเอง คลิปความรู้การวิธีการดูแลการตาย หนังสือเสียง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สสส.
การเรียนรู้จากคนใกล้ชิดครอบครัวการเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังคนทำแผนจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน  (Dischart Plan) เพื่อให้ครอบครัวได้รับความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างเต็มที่การพัฒนาระบบสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่น Call Center การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลจัดการตนเอง (Self Management) สำหรับครอบครัวที่ตัดสินใจดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านกองบริหารการสาธารณสุข สธ.ผู้อำนวยการ รพ.สวรส.
ระบบสุขภาพปฐมภูมิเพิ่มงบประมาณและกำลังคนด้านการดูแลผู้ป่วยระยะยาว – ระยะท้าย ในระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างน้อยตำบลละ 2 คน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาและกำลังเพียงพอในการเยี่ยมบ้าน จัดการอาการ จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะยาว และระยะท้ายในชุมชน กองบริหารการสาธารณสุข สธ.อบจ.
การเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน ชมรมมิตรภาพบำบัดสนับสนุนโปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคอง (Neighborhood Network in Palliative Care) โปรแกรมเพิ่มศักยภาพในการดูแกันและกันในชุมชนหมู่บ้าน โดยใช้กองทุน สปสช. ท้องถิ่นสนับสนุนขบวนการอาสาสมัครในระบบสุขภาพ เช่น เพิ่มทางเลือกการเป็นอาสาสมัครในระบบสุขภาพเพิ่มเติมจาก อสม. เช่น การพัฒนาผู้จัดการอาสาสมัคร การพัฒนากระบวนกรชุมชนด้านสุขภาพ การพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะการลดอุปสรรคในการทำกลุ่มมิตรภาพบำบัดในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น สปสช.ท้องถิ่น กองทุน LTC กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนคนพิการการพัฒนาเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มขนาดเล็ก (4-20 คน) ให้ประชาชนนำไปให้ความรู้กันเองในชุมชนพิจารณาให้หน่วยงานให้ทุนสร้างเสริมสุขภาพ จัดโปรแกรมสนับสนุนทุนขนาดเล็กและภาระบริหารจัดการน้อย สนับสนุนให้เพื่อนบ้านจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสียได้ง่ายสปสช.พม.สสส.ท้องถิ่น
การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาโรงเรียนประถม มัธยมพัฒนาหลักสูตรความรู้เท่าทันความตายและการสูญเสียในหลักสูตรการศึกษาระดับชาติ เพื่อเป็นทางเลือกให้ครูนำไปใช้สอนในวิชาต่างๆ เช่น สังคมศาสตร์ สุขศึกษา แนะแนว โฮมรูม เป็นต้นพัฒนาและผลิตนิทาน วรรณกรรม หนังสืออ่านนอกเวลา ที่สื่อสารเรื่องการดูแลความเจ็บป่วย การตาย และความสูญเสีย เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนรู้ สพฐ. ศธ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
มหาวิทยาลัยทบทวนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย การตาย และความสูญเสีย เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร นักบริบาล สาธารณสุข จิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ตำรวจ เจ้าหน้าที่นิติเวช และเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนกรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย ในหลักสูตรพัฒนาการบริบาลผู้ป่วย การจัดการร่างกายและงานศพหน่วยงานให้ทุนวิจัย กำหนดนโยบายพัฒนาชุดโครงการวิจัยการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย (End of Life Literacy, Death Literacy and grief literacy) เพื่อทบทวนระบบความรู้ การวิจัย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องในสถาบันการศึกษาอว.สกสว.ก.แรงงาน
การเรียนรู้นอกสถาบันการศึกษาสื่อมวลชนกำหนดวาระการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย เพิ่มเติมจากวาระการเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัยกำหนดวาระการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย เป็นเนื้อหาแนะนำในกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กำหนดเนื้อหาการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย เป็นเนื้อหาแนะนำในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานผลิตเนื้อหาในสื่อมวลชนกสทช.
สถาบันศิลปะ พิพิธภัณฑ์สนับสนุนทุนการจัดนิทรรศการ เทศกาล ที่มีเนื้อหาให้ความรู้ สร้างความตระหนัก สร้างพื้นที่สนทนาประเด็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสียสำนักนายก
หน่วยจัดกิจกรรม เทศกาล ธุรกิจสร้างสรรค์สนับสนุนทุน โปรแกรมฝึกอบรม ให้นักพัฒนาเทศกาลสร้างสรรค์ เรียนรู้เนื้อหาการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสียสำนักนายก
หน่วยบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะในชุมชน/เมืองสนับสนุนการจัดพื้นที่พูดคุยสนทนา สนับสนุนการจัดวงมิตรภาพบำบัดในประเด็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย ท้องถิ่น
หน่วยธุรกิจ/ วิสาหกิจเพื่อสังคม/ องค์กรไม่แสวงหากำไร ใช้กลไกรับฟังความเห็นสาธารณะ (Public Hearing) รวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ/ องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย เพื่อพัฒนานโยบายสนับสนุนการทำงานในระยะกลางและระยะยาวสช.

ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการกำหนดวาระการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของระบบชีวาภิบาล ให้ประชาชนมีศักยภาพดูแลตนเองได้มากขึ้น นโยบายที่ผู้เขียนเสนออยู่ในวิสัยที่ภาครัฐทำได้ นโยบายหลายรายการสามารถผนวกในภารกิจเดิมของหน่วยงานที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่บางรายการก็จำเป็นต้องบเพิ่มงบประมาณและกำลังคนในระบบสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเพิ่มกำลังคนในงานชีวาภิบาล ใน รพช.และรพ.สต. การพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งต่อความรู้ด้านการดูแลการตายในชุมชน 

สรุป

การสร้างนิเวศการเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสีย เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะช่วยให้ครอบครัวและชุมชนมีความพร้อมเพิ่มขึ้นในการดูแลตนเอง ผู้สร้างสรรค์และสนับสนุนการเรียนรู้ในสังคมีหลากหลายตั้งแต่ระดับในตนเอง คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน องค์กร ชุมชน ระบบบริการสุขภาพ และนโยบาย การสนับสนุนนิเวศการเรียนรู้ฯ จำเป็นต้องมองเห็นสถาบันการเรียนรู้ที่หลากหลายและแฝงอยู่ในสถาบันต่างๆ ในสังคม ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา ภาครัฐต้องแสดงเจตนาว่าตนเองเห็นความสำคัญของการผลิต ส่งต่อ และแบ่งปันความรู้ด้วยการพูดถึงโดยผู้นำหน่วยงาน การทบทวนและปรับปรุงนโยบาย ตลอดจนการลงทุนสนับสนุนงบประมาณในบางภารกิจนโยบาย

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
2024-5-22

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา