มุมมองทางเศรษฐศาสตร์กับแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง PHPC Group Read EP6

บันทึกการกิจกรรมอ่านกลุ่ม มุมมองทางเศรษฐศาสตร์กับแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง PHPC Group Read EP5

ความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สุขภาพ

เศรษฐศาสตร์สุขภาพ เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ช่วยอธิบาย ทำความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละบุคคล ส่วนในทางนโยบาย มุมมองทางเศรษฐศาสตร์มีความสำคัญในการตัดสินใจพัฒนาและเลือกนโยบายสุขภาพในระดับประชากร

เศรษฐศาสตร์สุขภาพมีแนวคิดว่า สังคมมีทรัพยากรในการดูแลสุขภาพจำกัด เพื่อตอบสนอความต้องการของสุขภาพที่ไม่จำกัด ดังนั้น จึงต้องเลือกวิธีการดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด

เศรษฐศาสตร์สุขภาพแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เพราะสินค้าสุขภาพแตกต่างจากสินค้าทั่วไป กลไกการตลาดอาจใช่ไม่ได้กับสินค้าด้านสุขภาพ เพราะสินค้าสุขภาพมีความซับซ้อนสูง ประชาชนมีข้อมูลจำกัดในการตัดสินใจซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพบางตัวก็ต้องซื้อโดยรัฐ เช่น วัคซีนที่ต้องพัฒนาความร่วมมือกับนานาชาติ การแทรกแซงสุขภาพบางอย่างก็ใช้ต้นทุนการผลิตสูงและไม่ให้ผลตอบแทนในทันที เช่น กิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้น รัฐ ในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าสุขภาพมากกว่า และรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงตลาด ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ให้ความคุ้มค่า ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี

ความท้าทายในการใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ต่อการวางแผนด้านสาธารณสุข

แม้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์จะมีความจำเป็นต่อการพัฒนานโยบายสุขภาพ แต่ก็มีความท้าทายหลายประการ

  • การเก็บข้อมูลค่าใช้จ่าย มีการเก็บอย่างเข้มข้นและเป็นระบบในระบบบริการสุขภาพ (Health Service Delivery) แต่มุมมองการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายพฤติกรรมการดูแลสุขภาพไปอยู่ครอบครัวและชุมชนมากขึ้น ซึ่งไม่มีการเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เป็นระบบและครบถ้วนมากนัก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ไม่มีข้อมูลค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนด้านสุขภาพที่ครบถ้วนสำหรับการวางแผนนโยบายสุขภาพ
  • วัฒนธรรมการวางแผนนโยบายที่ไม่ได้มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์​ แต่มาจากความคิดความเชื่อของผู้บริหาร และเจตนารมย์ทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์
  • ความขาดแคลนนักเศรษฐศาสตร์สุขภาพ และมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ในการตัดสินใจนโยบายโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น
  • ข้อมูลป้อนกลับ หรือผลลัพธ์ด้านสุขภาพจากการวางแผนนโยบายมักใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผล มีปัจจัยแทรกแซงนโยบายมาก จึงจำเป็นต้องมีโครงการวิจัยติดตามการประเมินผลในระยะยาว ซึ่งในประเทศที่มีงบประมาณวิจัยจำกัด การประเมินผลระยะยาวจึงเกิดขึ้นน้อย และขาดข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการวางแผนนโยบายระยะยาวเช่นเดียวกัน

มุมมองทางเศรษฐศาสตร์กับการดูแลแบบประคับประคอง

การเกิดขึ้นของการดูแลแบบประคับประคอง มักเริ่มต้นจากภาคประชาสังคม และองค์กรไม่แสวงหากำไร ในประเทศไทยก็เกิดจากแนวหน้าด้านสุขภาพที่ให้บริการดูแลนอกเหนืองานประจำ เจียดเวลาว่าง เวลาพักผ่อน ไปทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ลักษณะการทำงานเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศอื่นๆ จนรัฐบาลอาจมองว่า การดูแลแบบประคับประคองไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะเป็นผู้จ่ายค่าบริการ เพราะอย่างไรเสีย ก็มีผู้มีจิตกุศลให้การบริจาค มีขบวนการอาสาสมัครที่ลงมือทำ และผู้ให้บริการรวมถึงภาคประชาชนบางส่วนก็พร้อมที่จะให้บริการด้วยความกรุณาอยู่แล้ว ลักษณะการทำงานเช่นนี้ทำให้ผู้บริหารนโยบายสาธารณะประเมินต้นทุนการดูแลแบบประคับประคองต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่คิดลงทุนนโยบายที่เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง ผลที่เกิดขึ้นคือ การดูแลจะเกิดได้เฉพาะบางพื้นที่ หรือบางโรงพยาบาลที่มีองค์กรสาธารณกุศลที่เข้มแข็งเท่านั้น สังคมนั้นจะมีผู้ป่วยตกหล่นจากการดูแล เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง

ความท้าทายของการดูแลแบบประคับประคอง ยังมีปรากฏการณ์เรื่องการย้าย/ผลักต้นทุนการดูแล (Cost Shiefting) ระหว่างการดูแลในโรงพยาบาลซึ่งรัฐรับภาระต้นทุน และการดูแลในครอบครัวซึ่งครอบครัวเป็นผู้รับภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย นโยบายระบบบริการส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดูแลของการคลังสาธารณสุขและของครอบครัวเสมอ นโยบายสนับสนุนการดูแลในครอบครัวในแง่หนึ่งก็อาจลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและต้นทุนค่าเดินทางของครอบครัว แต่ก็ไปเพิ่มต้นทุนกิจกรรมการดูแลซึ่งครอบครัวเป็นผู้แบกรับ

ความท้าทายคือผู้บริหารนโยบายจะออกแบบนโยบายอย่างไรที่ให้ความคุ้มค่าในการดูแลมากที่สุด คือลดทั้งต้นทุนภาครัฐ และลดต้นทุนการดูแลของครอบครัว เพิ่มทุนทางสังคมมาร่วมให้การดูแล และผู้ป่วยได้รับคุณภาพชีวิตสูงสุด การจะทำเช่นนี้ได้ต้องการมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ การออกแบบโครงการประเมินผลที่ครอบคลุมการดูแลทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน

ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ การบริหารงบประมาณเพื่อจัดบริการการดูแลแบบประคับประคองในหลายพื้นที่มีลักษณะผสมผสาน คือรัฐบาลจ่ายส่วนหนึ่ง ผู้รับบริการจ่ายส่วนหนึ่ง องค์กรสาธารณกุศลสมทบทุนบริการอีกส่วนหนึ่ง กิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์สุขภาพเช่นนี้เรียกว่า เศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งทำให้คำนวนต้นทุนการบริการและการวางแผนนโยบายระดับชาติซับซ้อนขึ้นไปอีก

สรุป

  • การให้การดูแลแบบประคับประคองมีประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งเสมอ อยู่ที่ว่าใครจะมองเห็น แต่ที่แน่ๆ ครอบครัวพิจารณามิติเศรษฐกิจในการดูแลอย่างมาก ผู้อภิปรายพบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เลือกจะรับการดูแลแบบประคับประคองเร็วเกินไป ทั้งที่โรคที่เป็นอยู่สามารถรักษาให้หายได้ แต่เมื่อคำนวณความคุ้มค่าในครัวเรือนแล้วก็พบว่าการปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่าในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มุมมองของประชาชนก็ยังมองตัวเลขทางการเงินของครัวเรือน มาก่อนคุณภาพชีวิตหรือสุขภาพเสียด้วยซ้ำ
  • มุมมองทางเศรษฐศาสตร์สุขภาพ เป็นมุมมองหนึ่งที่ช่วยให้เกิดออกแบบนโยบาย บริการที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่ายิ่งขึ้น
  • ประเทศไทยยังขาดแคลนการวิจัยความรู้ต้นทุนด้านการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน และภาพรวมของทั้งระบบ (ระบบบริการ + ระบบสุขภาพชุมชน) สังคมไทยยังต้องการงานวิจัยและนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพมาสนับสนุนวงการการดูแลแบบประคับประคองอีกมาก

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  • เพิ่มนักวิจัยและชุดโครงการวิจัยเศรษฐศาสตร์สุขภาพ มาสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจนโยบายการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน
  • ศึกษาปรากฏการณ์การย้ายต้นทุน (Cost Shiefting) การดูแลทั้งในโรงพยาบาล ชุมชน และครอบครัว เมื่อผู้บริหารนโยบายตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายการดูแลแบบประคับประคอง
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเศรษฐกิจที่จะมาช่วยเพิ่มทางเลือกในการพัฒนาการดูแลแบบประคับประคอง เช่น Palliative Telemedicine, กองทุนทรัสต์สำหรับการร่วมทุนการดูแลแบบประคับประคอง, ประกันสุขภาพการดูแลแบประคับประคอง, หลักประกันการดูแลผู้ป่วยระยะยาว, การใช้มาตรา 3 สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการให้บริการดูแลแบบประคับประคอง, การเพิ่มบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะสุดท้ายในคลินิกนวัตกรรม หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ร่วมกับ สปสช. เป็นต้น

ขอขอบพระคุณผู้ร่วมสนทนาเรียนรู้ทุกท่าน โดยเฉพาะคุณจุ๋มที่กรุณาทำบันทึกย่อและนำอ่านเป็นคนแรกครับ ดูโน้ตได้ที่ http://cocofoundationthailand.org/wp-content/uploads/2024/07/PHPC_CH25_Economic-perspectives-on-public-health-approaches-to-palliative-care-short.pdf

ฟังสรุปการอภิปรายได้ที่ Youtube

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา