การใช้เครื่องมือปฏิบัติการชุมชนกรุณา บันทึกสรุปกิจกรรม Group Read EP5 Oxford Textbook of Public Health Palliative Care

เขียนโดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

เสาร์ที่ 29 มิ.ย. 67 กลุ่ม Group Read ชวนอ่านบทความจากตำรา Public Health Palliative Care หัวข้อ Using and building toolkits to support community action

บทความนี้พูดถึงการสร้างและใช้เครื่องมือสนับสนุนปฏิบัติการชุมชน จากหลากหลายประเทศ ถอดบทเรียนประเด็นสำคัญของชุดเครื่องมือของประเทศต่างๆ ให้ผู้อ่านได้นำไปพัฒนาแนวทางการทำเครื่องมือสนับสนุนงานชุมชนกรุณาในพื้นที่/ประเด็นของตนเอง

อะไรคือเครื่องมือ?

ชุดเครื่องมือการทำงาน คือตัวกลาง/สื่อกลาง ระหว่าง แนวคิด/ทฤษฎี/เนื้อหาความรู้ กับปฏิบัติการในโลกแห่งความเป็นจริง

ช่องว่างระหว่างโลกทฤษฎีกับปฏิบัตินั้นกว้างขวาง เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ไม่ใช่นักทฤษฎี อาจะไม่ได้อ่านงานวิชาการต้นฉบับ จึงต้องการตัวช่วยหรือเครื่องมือทำงาน เพื่อให้โลกความเป็นจริงเข้าใกล้สิ่งที่ควรจะเป็นตามแนวคิดทฤษฎี

ตัวอย่างเช่น

โจทย์ = ทำอย่างไรให้นักสาธารณสุขเข้าใจสุขภาพชุมชน
แนวคิด = การเข้าใจสุขภาพชุมชน ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ชุมชน เข้าใจภูมิประเทศของชุมชนที่ส่งผลต่อสุขภาพ ฯลฯ
โลกความจริง = ชุมชนแห่งหนึ่ง
เครื่องมือ = เครื่องมือ 7 ชิ้น

โจทย์ = ทำอย่างไรให้คนในสังคมพูดเรื่องความตายได้อย่างเป็นปกติสามัญ
แนวคิด = การพูดเรื่องความตาย ต้องนำคนที่มีประสบการณ์หลากหลาย คุยเรื่องราวที่หลากหลายเกี่ยวกับชีวิตและความตาย คุยเป็นกลุ่ม
โลกความจริง = คนส่วนใหญ่ไม่กล้าคุยเรื่องความตาย ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แต่อาจมีบางคนที่พร้อมนำคุยเรื่องนี้
เครื่องมือ = เกมไพ่ไขชีวิต

โจทย์ = จะเริ่มต้นสร้างกลุ่มคนที่กระตือรือร้นช่วยเหลือ สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การตาย และความสูญเสียได้อย่างไร
แนวคิด = ควรใช้กระบวนการ Action Learning ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมาย วางแผน การลงมือทำ และการประเมินผล
โลกความจริง = ผู้นำชุมชนบางคนต้องการเริ่มต้นชุมชนกรุณา แต่ไม่รู้จะเริ่มตั้งคำถาม รวบรวมข้อมูล และนำชุมชนอย่างไร
เครื่องมือ = ชุดกิจกรรมปลูกชุมชนกรุณา (CoCo Building Toolkits) ดูต่อได้ที่นี่

เป็นต้น

เครื่องมือการทำงานชุมชนมีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือที่จับต้องได้เท่านั้น เช่น

  • เครื่องมือทางความคิด เช่น แนวคิดที่จำได้ง่าย เรื่องเล่าที่พิสูจน์แล้วว่าคนเข้าใจได้ง่าย
  • เครื่องมือการสื่อสาร เช่น Presentation นิทานเรื่องเล่า วีดีโอประกอบการอบรม
  • เครื่องมือสำหรับประเมินผล เครื่องมือออกแบบ เช่น Canvas รูปแบบต่างๆ แบบวัดผล
  • เครื่องมือที่จับต้องได้ เช่น เกม การ์ดกิจกรรม แอพพลิเคชัน เว็บไซต์

หลักบางประการในการสร้างเครื่องมือหนุนเสริมการทำงานของชุมชน

ในบทความ จะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการ กับผู้ปฏิบัติงานชุมชน สองคนนี้ต้องทำงานร่วมกัน แต่วิธีการทำงานไม่เหมือนกัน โดยมาก การส่งเสริมปฏิบัติการชุมชนมักจะมาจากผู้เชี่ยวชาญ มุมมองของบทความนี้จึงมักสื่อไปถึงคนกลุ่มนี้

ผู้เชี่ยวชาญ ต้องเข้าใจธรรมชาติการทำงานร่วมกับชุมชนว่า

  • ผู้ปฏิบัติงานมีทุนทางสังคม การสนับสนุนงานชุมชนต้องมองหาจุดแข็ง ทรัพยากร ทุนที่ชุมชนมีอยู่ ไม่เริ่มจากการโฟกัสจุดที่ขาดพร่อง
  • ชุมชนต้องการความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เท่าเทียม ไม่ใช่อำนาจกดทับสั่งการ
  • การร่วมงานกับชุมชน ควรใช้แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) มากกว่าการรักษาทางการแพทย์
  • บทบาทของผู้เชี่ยวชาญ คือผู้สนับสนุนความรู้ ข้อมูล แต่ไม่ใช่ผู้นำในการพัฒนา
  • แนวทางการทำงานที่ได้ผล มักเป็นการทำงานแนว การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (Action Learning) การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Learning) ควรให้ชุมชนกำหนดคำถาม/ปัญหา ของตนเองมากกว่าให้ผู้เชี่ยวชาญกำหนด

เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและชุมชนทำงานร่วมกันได้ เครื่องมือสนับสนุนปฏิบัติการชุมชน จึงควรมีคุณสมบัติดังนี้

  1. ข้อมูลที่มากพอ มีแหล่งความรู้เพิ่มเติมสำหรับการศึกษาค้นคว้า
  2. เข้าถึงได้ง่าย เช่น ราคาไม่แพงหรือฟรี ไม่มีเงื่อนไขในการใช้งานมากนัก สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้เอง ไม่มีข้อห้ามการใช้งานมากนัก
  3. ใช้ภาษาที่ชุมขนเข้าใจ เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย มีระดับภาษาที่เหมาะสม เข้าใจง่าย ภาษาเป็นมิตรกับผู้ใช้
  4. อ้างอิงงานวิจัย แนวคิดที่สนับสนุนการทำงานของเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ
  5. เนื้อหาปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทผู้ใช้ เครื่องมือควรเปิดกว้างให้ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ต่อยอดได้ง่าย เช่น กรณีเป็นเครื่องมือสอนเขียนโครงการ เครื่องมือควรให้ไฟล์ word ให้ชุมชนนำไปปรับแก้ได้เองด้วย
  6. มีแผนการประเมินผล ผู้พัฒนาเครื่องมือควรกำหนดกระบวนการประเมินผลและปรับปรุงเครื่องมือในรุ่นถัดไป เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
  7. มีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาระงาน (ไม่ใช่ว่ามีเครื่องมือแล้ว ภาระงานมากกว่าเดิม ชีวิตยากกว่าเดิม

แนวทางการสร้างชุดเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของชุมชน

เครื่องมือการทำงานชุมชน ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามโจทย์และบริบทของชุมชน เมื่อมีโจทย์ใหม่ๆ จะดีแค่ไหนถ้าชุมชนจะพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการทำงานไว้ใช้ได้เอง ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการสร้างชุดเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน
1) ระบุประเด็นที่อยากพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการทำงาน
2) ระบุอุปสรรคของการทำงาน และความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเครื่องมือ
3) เข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้ใช้เครื่องมือ เช่น วัย อายุ การศึกษา เพศ บทบาท โอกาสใช้งานเครื่องมือ ขีดจำกัดของเวลาใช้เครื่องมือ
4) ทดลองออกแบบ ทดสอบ และปรับแต่ง
5) วางแผนประเมินผลการใช้งานเครื่องมือ เช่น การสร้างแบบสอบถาม การจัดสัมภาษณ์กลุ่มผู้ใช้งาน
6) สร้างความยั่งยืนของชุดเครื่องมือ เช่น การผลิต การตั้งราคา การกำหนดผู้รับผิดชอบการพัฒนาเครื่องมือ

ตัวอย่างเครื่องมือการทำงานหนุนเสริมชุมชน เช่น

  • Compassionate Community Startup Toolkit by Pallium Canada (Canada) เป็นเอกสารสำหรับจัดวงคุยชุมชนเพื่อเริ่มต้นชุมชนกรุณา
  • Building Compassionate Communities in Australia: Tools for a Community-led Approach to End-of-Life Care, By the Groundswell Project ( Australia) หนังสือคู่มือการเริ่มต้นชุมชนกรุณาสำหรับนักวิชาการและผู้นำชุมชน
  • Public Health Approaches to End of Life Care, by the National Council for Palliative Care (UK) E-book สำหรับการพัฒนาคลินิกบริการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
  • Scottish Bereavement Friendly Workplace Toolkit, by Good Life, Good Death, Good Grief (Scotland) ข้อมูลและแนวกิจกรรมสำหรับการสร้างชุมชนดูแลความสูญเสียในที่ทำงาน

ตัวอย่างเครื่องมือการทำงานของ Peaceful Daeth มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา

  • เครื่องมือเกี่ยวกับการให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
    • เกมไพ่ไขชีวิต
    • สมุดเบาใจ
    • แบบประเมินความรู้เท่าทันความตาย
  • เครื่องมือเกี่ยวกับการดูแลใจผู้ดูแล
  • เครื่องมือเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนกรุณา

ผลจากการอภิปรายเพิ่มเติม

  • ประเทศไทยมีจุดเด่นการพัฒนาชุมชนกรุณา จากการสร้างเครื่องมือที่จับต้องได้ เป็นมิตรต่อผู้ใช้ มีกระบวนกรชุมชนและบุคลากรสุขภาพนำเอาเครื่องมือไปใช้งานจริงในชุมชน มีการประเมินและปรับปรุงเครื่องมือการทำงานชุมชนสม่ำเสมอ แม้ไม่เป็นระบบและยังมีจุดอ่อนเรื่องขั้นตอนทางวิชาการที่ครบถ้วน
  • ยังขาดเครื่องมือการทำงานอีกหลายอย่าง เช่น การพัฒนาเครื่องมือการนำของผู้นำชุมชนในหน่วยงานราชการ (ที่ใช้งานจริงในทางปฏิบัติ) เช่น เครื่องมือนำคุยเพื่อเชื่อมประสานระหว่างบริการในโรงพยาบาลและเครือข่ายการดูแลในชุมชน จากกลไกราชการที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง เช่น พชจ. พชอ. สสจ. เป็นต้น
  • ควรทำ Template และชุดเครื่องมือสำหรับการออกแบบโครงการและขอทุนสนับสนุนจากกองทุน สปสช.ท้องถิ่น และ สปสช. กรุงเทพ
  • ควรนำเอาเครื่องมือที่จับต้องได้ ให้มีเวอร์ชันออนไลน์เพิ่มขึ้น
  • ควรมีเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรสุขภาพสาขาอื่นๆ เข้าใจและสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคอง
  • ควรมีเครื่องมือนำสนทนาและเยียวยาความสูญเสีย
  • ควรผลิตเครื่องมือสำหรับครอบครัวที่สนใจการเตรียมสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เอื้อต่อการตายดี

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมสังคม ควรให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานวิชาการ/ชุมชน ให้พัฒนาเครื่องมือการทำงานสนับสนุนระบบสุขภาพชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะยาว-ระยะประคับประคองมากขึ้น
  • ควรเพิ่มทุนสนับสนุน ให้พัฒนาเครือข่ายนวัตกรที่มีอยู่แล้ว มาร่วมพัฒนาเครื่องมือทำงานประเด็นชุมชนกรุณามากขึ้น

ขอขอบพระคุณผู้ร่วมสนทนาเรียนรู้ทุกท่าน โดยเฉพาะคุณจุ๋มที่กรุณาทำบันทึกย่อและนำอ่านเป็นคนแรกครับ

ฟังย้อนหลังได้ทาง Youtube

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา