ระบบความตาย (2): อำนาจ การเลือกปฏิบัติ การบริโภค ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน การเลือก และการบริโภค

บันทึกการสนทนาเรียนรู้ระบบความตาย กิจกรรม PHPC Group Read วันที่ 30 ส.ค. 2567 คุยบทความหัวข้อที่ 6-8 ในรายงานของคณะกรรมการ Lancet (ดูรายงานได้ที่ https://valueofdeath.org/) เนื้อหาสรุปมีดังนี้

ความตาย อำนาจ และการเลือกปฏิบัติ

แม้ทุกๆ คนจะต้องประสบความตายอย่างเท่าเทียมกัน แต่การดูแลการตายของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน ถูกกำหนดมาจากปัจจัยสังคมการเมืองที่หลากหลาย เช่น เพศ ชาติพันธุ์ สีผิว ถิ่นที่อยู่ การเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ นโยบายการเมืองในและระหว่างประเทศ เราสามารถเรียนรู้ความทุกข์จากการดูแลการตายโดยการประยุกต์เอาโมเดล ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinant of Health) มาประยุกต์เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยกำหนดคุณภาพการตายได้ (Social Determinant of Death and Dying)

การเปลี่ยนแปลงระบบความตาย จำเป็นต้องเห็นประเด็น “อำนาจ” ของการควบคุมและมีอิทธิพลต่อการดูแลความเจ็บป่วยและการตาย โดยเฉพาะอำนาจในสถาบันการแพทย์ อำนาจในชุมชน อำนาจทางการเมือง อำนาจในการมีอิทธิพลทางความคิดและเรื่องเล่าทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงระบบความตาย จึงต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในองคาพยพของการดูแลแบบประคับประคองด้วย

ตัวอย่างการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจเช่น

  • การเสริมบทบาทของเครือข่ายการดูแลที่ไม่เป็นทางการ เพื่อลดทอนอำนาจจากอำนาจการควบคุมการตายที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญ
  • การพูดถึงอำนาจในการควบคุมการตายของผู้ป่วยเอง เพื่อส่งเสียงความต้องการและเสริมพลังอำนาจของผู้ป่วย แทนที่จะเสนอแต่เพียงมุม “ผู้ป่วยคือผู้อ่อนแอและรอรับการช่วยเหลือ”
  • การพูดถึงประสบการณ์ความทุกข์จากการถูกเลือกปฏิบัติของคนชายขอบ เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของระบบราชการให้มีความยืดหยุ่นและมีหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เป็นต้น

อ่านบทความที่มีเนื้อหาคล้ายกันได้ที่ บทความ การดูแลแบบประคับประคองกับความเป็นธรรมทางสังคมในกลุ่มเปราะบาง https://cocofoundationthailand.org/pc-and-equity/

ปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ในระบบความตาย

ปัจเจก

  • แรงปรารถนาที่จะมีชีวิต Will to live หรือแรงผลักที่จะดำรงอยู่ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงปรารถนานี้ได้แก่ การให้ความหมายของชีวิต จิตวิญญาณ ความหวัง ความปวด ความรู้สึกเป็นภาระ ความสัมพันธ์ทางสังคม
  • ความกังวลเกี่ยวกับตาย นำมาซึ่งแรงผลักในการมีชีวิต พฤติกรรมการออม การหลีกเลี่ยงที่จะคิดถึงหรือพูดถึงความตาย ความกังวลเกี่ยวกับการตายมีทฤษฎีทางจิตวิทยาอธิบายหลายแนวคิด เช่น ความกลัวตาย ความเสียดายชีวิต การจัดการความกลัว ในวงสนทนากล่าวว่าการทำงานขับเคลื่อนเรื่องความตาย แม้จะเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น แต่ก็อาจกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับการตายของผู้รับสารจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนทำงานชุมชนกรุณาอาจต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับกลุ่มคนที่ยังหวั่นไหวต่อความตายอย่างมีศิลปะ ศาสนาและความเชื่อ มีผลอย่างมากต่อความกังวลเกี่ยวกับการตาย
  • น่าสนใจว่าความกังวลเกี่ยวกับการตาย นำไปสู่ท่าทีที่หลากหลาย มีกลุ่มที่กังวลแล้วเผชิญหน้าเพื่อเรียนรู้ คนที่กังวลแล้วไม่พูดถึง หรือกังวลเกี่ยวกับการตายแล้วพยายามเข้าถึงการช่วยให้ฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (Medical Assisted in Sucicide) อย่างไรก็ตาม คนที่พยายามเร่งการตายมีความกังวลว่าตนเองจะเป็นภาระและสูญเสียความหมายในชีวิต มากกว่ากังวลว่าจะประสบความทุกข์ทรมานทางกาย
  • แต่ละบุคคลจะเจอโจทย์เรื่องความโศกเศร้าและความสูญเสีย ปัจจุบันมีทฤษฎีอธิบายและรับมือความโศกเศร้าจากการสูญเสียหลายแหล่ง ลองศึกษาบทความรู้ทันความโศกเศร้า ได้ที่ https://cocofoundationthailand.org/grief-literacy/

ครอบครัวและชุมชน

  • ครอบครัวและชุมชนรับมือกับความตายร่วมกันมานานแสนนานก่อนที่การแพทย์สมัยใหม่จะถือกำเนิดมาเพียงไม่กี่ร้อยปีก่อน แม้ในปัจจุบัน ก็ยังมีงานศึกษาว่า ผู้ป่วยระท้ายใช้เวลามากกว่า 95% กับครอบครัวและชุมชน
  • พิธีกรรมเกี่ยวกับศพ การรำลึก การไว้ทุกข์ การทำบุญอุทิศ คือเครื่องมือของครอบครัวและชุมชนที่มีส่วนสำคัญในระบบความตาย ช่วยให้การสนับสนุนทางสังคมแก่ผู้เผชิญความสูญเสีย มีรายงานว่า การบำบัดความสูญเสียในปัจจุบัน มุ่งเน้นให้ผู้โศกได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน โดยผู้บำบัดเป็นผู้กระตุ้น ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชน เป็นผู้มีบทบาทในการสนับสนุนผู้ป่วยให้ได้ โดยใช้ทักษะขั้นพื้นฐานเท่านั้น เช่น การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน การแสดงตัวอยู่เป็นเพื่อน การพูดให้กำลังใจ การอยู่เงียบๆ การใช้พฺิธีกรรมง่ายๆ ที่ผู้โศกเศร้าคุ้นเคยสนับสนุนการฟื้นคืน
  • ปัจจุบัน มีกระแสความเคลื่อนไหวชุมชนกรุณา ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่่มของชุมชนที่กระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะเกี่ยวกับการดูแลความเจ็บป่วย การตาย และความสูญเสีย ให้สามารถลงมือช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติในชีวิต ขบวนการดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของการจัดเทศกาลทางสังคม การรณรงค์ให้ความตายเป็นเรื่องพูดได้ สำหรับประเทศไทย มีปฏิบัติการชุมชนกรุณาดังที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา กลุ่ม Peaceful Death กำลังดำเนินอยู่ รวมทั้งเครือข่ายคนทำงานด้านการอยู่และตายดีอีกจำนวนมาก
  • การตายดี มักเไม่เป็นประเด็นนโยบายขององค์กรท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรสถานที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม มีกระแสที่พูดถึงบทบาทของสถานที่ทำงาน การเมืองท้องถิ่น ในการสนับสนุนการตายดีมากขึ้น
  • แม้การตายดีจะถูกพูดถึงมากขึ้น แต่คนทำงานต้องระวังไม่กำหนดนิยามการตายดีที่ชัดเจนและตายตัวจนเกินไป เพราะแต่ละคนให้ความหมายเกี่ยวกับการตายดีไม่เหมือนกัน และแต่ละชุมชนมีทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรมในการรับมือไม่เท่ากัน
  • อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป เราสามารถกำหนดแนวทางสนับสนุนการตายดีไว้กว้างๆ ว่าหมายถึงสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้
  • สนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบรรเทาความปวดและอาการรบกวนคุณภาพชีวิตช่วงท้าย
  • การสื่อสารสร้างความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจ เคารพความต้องการซึ่งกันและกันระหว่าง ระหว่างผู้ป่วย คนใกล้ชิด และบุคลากรสุขภาพ โดยมีความต้องการของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
  • การเคารพการปฏิบัติทางศาสนา พิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ของผู้ป่วยและครอบครัว
  • ผู้ป่วยได้รับการบรรเทาทุกข์ทางจิตใจ อารมณ์ สังคม
  • ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง
  • ผู้ป่วยได้เสียชีวิตในสถานที่ที่ต้องการ
  • ผู้ป่วยไม่ถูกยื้อชีวิต ยืดความตายออกไปโดยไม่จำเป็น
  • ผู้ป่วยตระหนักถึงสิ่งสำคัญในชีวิต และได้รับการตอบสนอง คลี่คลายภาระทางใจและสิ่งค้างคาใจ
  • ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ของคนใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยไม่ตกเป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป
  • ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะเลือกยุติชีวิตของตนเองในเวลาที่เหมาะสม ไม่ต้องแบกรับความทุกข์ทรมานทางกายและไม่มีศักดดิ์ศรี

ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยจำนวนมากได้รับสิทธิ์ในการตายดีเหล่านี้ โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องใช้บริการการแพทย์ขั้นสูง เพียงทักษะและเครื่องมือดูแลระดับพื้นฐาน ก็สามารถสนับสนุนให้ผู้ป่วยตายดีได้

ทางเลือกและการบริโภคในระบบความตาย

ในบทนี้ พูดถึงแนวคิดพื้นฐานที่สังคมไทยพูดถึงบ่อยๆ ได้แก่ การุณยฆาต การวางแผนดูแลล่วงหน้า การทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต

ความท้าทายของการให้บริการการุณยฆาต คือ การเปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรุณยฆาตที่ง่ายเกินไป อาจเป็นทางยุติชีวิตชีวิตจำนวนมากเพียงเพราะสังคมไม่จัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี การรับรองสิทธิ์ที่จะดูแลความเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนการไม่ให้บริการการดูแลแบบประคับประคองอย่างครอบคลุม

ขณะเดียวกัน การปิดโอกาสที่จะให้ผู้ป่วยระยะท้ายที่ประสบความทุกข์ทรมานในระดับที่การดูแลแบบประคับประคองไม่สามารถบรรเทาความทุกข์ทรมานได้ ก็น่าคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายของผู้ป่วยหรือไม่

ทางออกที่ดีที่สุดของนโยบายให้สิทธิ์ผู้ป่วยยุติชีวิตตนเองโดยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (Euthanasia/ Medical Assisted in Dying -MAiD, Physician Assisted in Suicide – PAS) จึงน่าจะประกอบด้วย

1) สร้างเสริมระบบการดูแลแบบประคับประคองให้เข้มแข็ง ครอบคลุม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบบริการสุขภาพทั้งในโรงพยาบาลและและชุมชน
2) เปิดบทสนทนาเกี่ยวกับสิทธิ์ของบุคคลให้สามารถเข้าถึงการยุติชีวิตโดยความช่วยเหลือทางการแพทย์
3) เปิดโอกาสให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องการยุติชีวิตฯ อย่างเป็นระบบ มีหลักฐานะเชิงประจักษ์​ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
4) พัฒนาการจัดสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน ในทุกช่วงวัยของชีวิต
5) การพัฒนากลไกพิจารณาข้อพิพาท ไกล่เกลี่ย และจัดการความข้ดแย้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชีวิตช่วงท้ายในโรงพยาบาลและชุมชน เช่น การตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในโรงพยาบาล/ชุมชน โดยมีกฎหมายรองรับ มีกลไการตัดสินใจที่โปร่งใส มีส่วนร่วม และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

หมายเหตุ

กิจกรรม Group Read จัดวงคุยเรื่องระบบการตายต่อ ท่านสามารถเข้าร่วม Discord ชีวาภิบาล เพื่อติดตามและร่วมกิจกรรมได้ที่ https://discord.gg/cheevabhibaln

ขอบคุณคุณจุ๋มที่กรุณาทำบันทึกย่อและนำอ่าน ดูบันทึกได้ที่นี่

ชมคลิปบันทึกเสวนาย้อนหลังได้ที่ Youtube

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา